วันจันทร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2559

บทเรียนที่ 14 การจัดการการตลาด

หน่วยการเรียนรู้ที่ 5 การจัดการผลผลิต
บทเรียนที่ 14 การจัดการการตลาด



การจัดการการตลาด
 การนำผลผลิตทางการเกษตรออกจำหน่ายในตลาดเป็นวิชาการอย่างหนึ่งซึ่งต้องให้ผู้เชี่ยวชาญมาเป็นผู้จัดการและแก้ปัญหา ความต้องการของผู้ผลิตและผู้บริโภคมีบทบาทสำคัญต่อการตลาด ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาได้มีการแสดงราคาขายให้เห็นชัดเจน เพื่อประกอบการตัดสินใจของผู้ซื้อในอดีตรัฐบาลของหลายประเทศต้องการให้ตลาดมีความมั่นคง และหลายประเทศดำเนินการได้สำเร็จ จึงได้ดำเนินการต่อในขั้นตอนการส่งเสริมให้มีตลาดขายส่ง หรือตลาดประมูล เพื่อให้การแข่งขันเป็นไปอย่างชอบธรรมและเปิดเผย ทำให้ราคาผลผลิตทางการเกษตรที่เข้าสู่ตลาดเสรีขายได้ในราคาที่ยุติธรรมลดความไม่เป็นธรรมจากการขูดรีดพ่อค้าคนกลางจะควบคุมราคาโดยการกดราคาขายของผู้ผลิตและตั้งราคาขายสำหรับผู้ซื้อไว้สูง อันเป็นเล่ห์เหลี่ยมของพ่อค้าคนกลางที่ได้กำไร 2 ต่อ
การตลาด                 การนำผลผลิตออกจำหน่าย หรือการเร่ขาย ซึ่งไม่เฉพาะการขนส่งเพื่อไปจำหน่ายในตลาดเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการนำผลผลิตจากสถานที่ผลิตไปสู่ผู้บริโภคตามขบวนการและขั้นตอนต่างๆ คือการรวบรวมผลผลิต การคัดเลือก การบรรจุหีบห่อ การขนส่ง การแปรรูป การเก็บรักษา การขายส่ง การขายปลีก การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารด้านการตลาดในแต่ละขั้นตอนของการตลาดจะมีเรื่องของการเงินเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย การแก้ปัญหาการตลาดไม่ว่าจะเป็นไปในทางบวกหรือลบ มักจะต้องมีผลกระทบต่อราคาคุณภาพของสินค้า รวมทั้งผลกำไรด้วย
การจัดการการตลาด หมายถึง การดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ด้านธุรกิจ ซึ่งจะต้องมีการวางแผนการ
ผลิต การกำหนดราคา การจัดจำหน่าย ตลอดจนการดำเนินกิจการทุกอย่างเพื่อสนองความต้องการ และบริการให้แก่ผู้ซื้อหรือผู้บริโภคพอใจ ทั้งในเรื่องราคาและบริการ ซึ่งแยกกล่าวได้ดังนี้
1. การวางแผนการผลิต
              สิ่งที่จะต้องคำนึงถึงก่อนที่จะตัดสินใจดำเนินการธุรกิจ คือ
              1. ทุน ถ้าไม่มีทุนเป็นของตนเองต้องอาศัยแหล่งเงินกู้ จะต้องพิจารณาว่าแหล่งเงินกู้นั้นมาจากไหน ถ้ากู้จากเอกชนก็ต้องเสียดอกเบี้ยแพงกว่าสถาบันการเงิน ถ้าเสียดอกเบี้ยแพงจะคุ้มกับการลงทุนหรือไม่
              2. แรงงาน ถ้าสามารถใช้แรงงานในครอบครัวได้ก็จะสามารถลดรายจ่ายลงได้
              3. สินค้าสามารถหาได้ง่ายในท้องถิ่นหรือไม่ หากไม่มีในท้องถิ่นจะมีปัญหาเรื่องราคาและการขนส่งหรือไม่
               4. การจัดการ หมายถึง การจัดการด้านตลาด การจัดจำหน่าย ก่อนอื่นต้องคำนึงถึงกลุ่มเป้าหมาย ที่จะนำผลผลิตไปจำหน่ายการกำหนดราคาขาย ราคาต้นทุน กำไร และการลงบัญชีเบื้องต้น สิ่งเหล่านี้จำเป็นอย่างยิ่งในการประกอบธุรกิจ
2. การกำหนดราคาขาย
            เมื่อทำการผลิตเพื่อการจำหน่าย สิ่งแรกที่ต้องทำคือการกำหนดราคาขายที่ผู้ซื้อสามารถซื้อได้ในราคาไม่แพงจนเกินไป และผู้ขายก็พอใจที่จะขายเพราะได้กำไรตามที่ต้องการ         
ความต้องการซื้อ : แต่ละช่วงระยะเวลา ผู้บริโภคจะได้บริโภคสินค้าชนิดเดียวกันในราคาที่แตกต่างกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปริมาณความต้องการซื้อ ตามหลักการคือ สินค้าที่มีปริมาณเกินกว่าความต้องการราคาย่อมต่ำ
ความต้องการขาย : แต่ละช่วงระยะเวลาผู้ขายจะเสนอขายสินค้าชนิดเดียวกันในราคาที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับปริมาณสินค้าที่เสนอขาย ตามหลักการ คือ ถ้าราคาต่ำการเสนอขายจะน้อย
การกำหนดราคาผลผลิตทางการเกษตร : ผู้บริโภคจะเป็นผู้กำหนดราคา สำหรับในตลาดที่มีการแข่งขันเสรี
   หลักเกณฑ์ในการกำหนดราคาขาย มีดังนี้
          1. ได้ผลตอบแทนจากการลงทุนตามเป้าหมาย
          2. เพื่อรักษาเสถียรภาพด้านราคาไม่ถูกหรือแพงจนเกินไป
          3. เพื่อรักษาหรือปรับปรุงส่วนแบ่งของการตลาด กล่าวคือ ตั้งราคาขายส่งถูกกว่าราคาขาย
              ปลีก เพื่อให้ผู้รับซื้อไปจำหน่ายปลีกจะได้บวกกำไรได้ด้วย
          4. เพื่อแข่งขันหรือป้องกันคู่แข่งขันหรือผู้ผลิตรายอื่น
          5. เพื่อผลกำไรสูงสุด
การกำหนดราคาขาย มีหลักสำคัญ คือ ราคาต้นทุน + กำไรที่ต้องการ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องศึกษาเรื่องราวการคิดราคาต้นทุนให้เข้าใจก่อน

3. การคิดราคาต้นทุน
การคิดราคาต้นทุน หมายถึง การคิดคำนวณราคาวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต มีค่าแรงค่าใช้จ่ายในการผลิต ประกอบด้วย ค่าเช่าสถานที่ ค่าไฟฟ้า ค่าขนส่ง ฯลฯ
 การคิดราคาต้นทุนมีประโยชน์ คือ
1) สามารถตั้งราคาขายได้โดยรู้ว่าจะได้กำไรเท่าไร
2) สามารถรู้ว่ารายการใดที่ก่อให้เกิดต้นทุนสูง หากต้องการกำไรมากก็ต้องลดต้นทุนนั้น ๆ ลง
3) รู้ถึงการลดต้นทุนในการผลิตแล้วนำไปปรับปรุง และวางแผนการผลิตเพิ่มขึ้นได้
ต้นทุนการผลิต  มี 2 อย่าง คือ
1. ต้นทุนทางตรง หมายถึง ต้นทุนในการผลิตรวมทั้งค่าขนส่ง
2. ต้นทุนทางอ้อม หมายถึง ต้นทุนที่จ่ายเป็นค่าบริการต่าง ๆ เช่น ค่าแรงงาน ค่าไฟฟ้า ค่าเชื้อเพลิง ทั้งนี้ ให้คิดเฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับการผลิตโดยตรง แล้วนำต้นทุนทั้งสองอย่างมาคิดรวมกันก็จะได้เป็นราคาต้นทุนรวม
สรุป การกำหนดราคาขาย จะต้องคำนึงถึง
1. ต้นทุนทางตรง + ต้นทุนทางอ้อม คือ ต้นทุนรวม
2. การหากำไรที่เหมาะสม ทำได้โดยเพิ่มต้นทุนรวมขึ้นอีก 20-30%
ตัวอย่าง ต้นทุนรวมในการผลิต 500 บาทบวกกำไร 30% ของ 500จะได้ = 150 บาท
ฉะนั้น ราคาขาย คือ ต้นทุน + กำไร
    คือ 500 + 150 เท่ากับ 650 บาท
โดยทั่วไปร้านค้าปลีกจะกำหนดราคาขาย โดยการบวกกำไรที่ต้องการเข้ากับราคาต้นทุนการผลิตสินค้านั้น ๆ แต่บางรายก็กำหนดราคาสูง สำหรับการผลิตระยะเริ่มแรก เพราะความต้องการของตลาดค่อนข้างสูงในระยะเวลาอันสั้น การเปลี่ยนแปลงราคาขายอาจมีผลให้ยอดลดหรือเพิ่มขึ้นแล้วแต่ภาวะแวดล้อม จึงต้องคำนึงถึงเช่นเดียวกัน ดังนั้น จึงสามารถคิดราคาขายได้ง่าย ๆ ดังนี้
ราคาขาย = ราคาทุน (ต้นทุน + ค่าแรง) + กำไรที่ต้องการ

ลักษณะพิเศษของสินค้าเกษตร
โดยทั่วไปผลผลิตทางการเกษตรเป็นกลุ่มสินค้าที่มีขนาดใหญ่ ขอบเขตกว้างขวาง การรวมกลุ่มของธุรกิจเกี่ยวข้องจะต้องมีการจัดการที่ดี แม้ว่าจะมีการผลิตสินค้าเกษตรเป็นกลุ่มย่อยๆ เป็นจำนวนมาก
    1 ลักษณะที่แตกต่างของคุณภาพสินค้า : การผลิตสินค้าเกษตรโดยส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับธรรมชาติ ไม่สามารถผลิตสินค้าออกมาได้เหมือนกันทั้งหมด เช่นเดียวกับสินค้าอุตสาหกรรม แต่ในระยะเวลาที่ผ่านมาได้มีความพยายามที่จะพัฒนาการผลิตสินค้าเกษตรให้เหมือนกันเท่าที่จะทำได้ เช่น พันธุ์ที่เหมือนกัน จะได้ผลผลิตที่เหมือนกัน หรืออย่างน้อยคุณภาพของผลผลิตก็ใกล้เคียงกัน
    2 ฤดูกาล : ฤดูที่แตกต่างกันทำให้ผลผลิตทางการเกษตรที่ออกมาแตกต่างกัน แต่สามารถจะพัฒนาเทคโนโลยีในการเก็บเพื่อยืดระยะเวลาหรือการผลิตนอกฤดูกาล
    3 ภูมิประเทศ : การปลูกพืชบางชนิดเหมาะสำหรับในบางพื้นที่ ซึ่งสามารถจะเจริญเติบโตให้ผลผลิตที่ดีแต่ถ้านำไปปลูกในพื้นที่อื่น แม้จะเจริญเติบโตให้ผลผลิตแต่คุณภาพผลผลิตอาจจะต่ำ และต้นทุนการผลิตสูงกว่า
    4 การขนส่ง : แม้ว่าจะมีพื้นที่การผลิตที่เหมาะสม สามารถทำให้ผลผลิตมีปริมาณและคุณภาพสูง แต่ถ้าไม่มีเส้นทางในการขนส่งหรือต้นทุนในการขนส่งสูงก็ไม่สามารถพัฒนาการผลิตสินค้าเกษตรนั้นๆ ได้
    5 จำนวนผลผลิต : แม้ว่าบางพื้นที่จะสามารถทำการผลิตพืชบางชนิดได้แต่ถ้าผลผลิตมีน้อยก็ไม่สามารถดึงดูดผู้ซื้อได้

การแก้ปัญหาโดยจัดตั้งตลาดกลางขายผลผลิตเกษตร
            คือ สถานที่นัดพบเพื่อการซื้อขายสินค้าเกษตรที่มีผู้ซื้อและผู้ขายจำนวนมาก เข้ามาทำการซื้อขายโดยตรง ด้วยวิธีการตกลงราคาหรือประมูลราคากันอย่างเปิดเผย ภายใต้ราคาที่เป็นธรรมด้วยการบริการและสิ่งอำนวยความสะดวก อาทิ คลังเก็บรักษาสินค้า อุปกรณ์ชั่ง ตวง วัดและคัดเกรดสินค้าที่ได้มาตรฐาน รวมถึงบริการด้านข้อมูลข่าวสารทางการตลาดเพื่อประกอบการซื้อขาย
ตลาดกลางสินค้าเกษตรมิติใหม่ในการส่งเสริมเกษตรไทยให้มีช่องทางในการซื้อขายสินค้าเกษตรอย่างเป็นระบบ และลดปัญหาสินค้าราคาตกต่ำในอนาคต
สถานที่ ได้แก่  ตลาดไท จังหวัดปทุมธานี    ตลาดผักผลไม้เมืองใหม่ จังหวัดเชียงใหม่    ตลาดรวมพืชผลหัวอิฐ จังหวัดนครศรีธรรมราช  เป็นต้น
                   ผลผลิตทางการเกษตรของไทยมีเป็นจำนวนมาก และหลากหลาย ในอนาคตควรมีการกำหนดเขตการผลิตทางการเกษตร ซึ่งจะมีผลต่อการตลาดผลผลิตชนิดนั้นๆ เป็นอย่างมาก ทั้งนี้ควรมีการให้ความรู้ด้านการตลาดสินค้าเกษตรแก่ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย จึงจะสามารถสร้างและพัฒนาด้านการตลาดสินค้าเกษตรให้มีความมั่นคงต่อไปในอนาคตได้