วันพฤหัสบดีที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2559

บทเรียนที่ 9 เรื่อง ทฤษฎีใหม่

หน่วยที่ 4 ความพอเพียง
บทเรียนที่ 9 เรื่อง ทฤษฎีใหม่



เกษตรทฤษฎีใหม่
(
New Theory Agriculture)

             วิธีการทำการเกษตรตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เกี่ยวกับการแบ่งพื้นที่ เพื่อดูความสัมพันธ์ในการใช้ประโยชน์ที่ดินกับการใช้น้ำเพื่อการเกษตร

เกิดจากการวิเคราะห์ปัญหา โดยเฉพาะเกษตรในประเทศไทยมี 2 ปัญหาที่สำคัญ

1) ปัญหาภัยแล้งจากการขาดแคลนน้ำ
ที่เกษตรกรรมไทยกว่า 70%อยู่นอกเขตชลประทาน ทำให้เกษตรต้องอาศัยแหล่งน้ำจากธรรมชาติเพียงอย่างเดียวทำให้เสียดุลระบบนิเวศ ซึ่งการเกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่ ได้มีการวิเคราะห์ความต้องการใช้น้ำในฤดูแล้ง ประมาณ 1,000 ลูกบาศก์เมตรต่อ 1ไร่ดังนั้นหากต้องการปลูกข้าว 5ไร่และพืชผักผลไม้ 5ไร่ จึงต้องมีน้ำเพื่อใช้ 10,000 ลูกบาศก์เมตร

2) ความไม่มั่นคงทางด้านอาหารของเกษตรกร
ดังนั้นการเกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่ จึงเน้นให้มีการผลิตข้าวไว้ใช้ในการบริโภคได้ตลอดปีอย่างน้อย 5 ไร่ก็จะสามารถดำรงชีพอยู่ได้ นอกเหนือจากการปลูกข้าวก็ได้มีการเสนอให้จัดสรรพื้นที่สำหรับทำการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์อื่นๆ เพื่อเป็นรายได้เสริมและลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน ดังนั้น ในพื้นที่ที่ถือครองอยู่เฉลี่ย 10-15 ไร่ ควรมีการจัดสรรที่ดินออกเป็นสัดส่วนดังนี้

ร้อยละ 30 ของพื้นที่ ให้มีการขุดสระน้ำความจุประมาณ10,000 ลูกบาศก์เมตรไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้ง  และเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำได้
ร้อยละ 30 ของพื้นที่ ใช้เพาะปลูกพืชผักสวนครัวหรือปลูกไม้ผลไม้ยืนต้นเศรษฐกิจ


ร้อยละ 30 ของพื้นที่ ใช้ในการทำนาหรือปลูกข้าวเพื่อสร้างความมั่นคงในด้านอาหาร




ร้อยละ 10 ของพื้นที่ เป็นบริเวณที่อยู่อาศัย


การเกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่ จึงนับได้ว่าเป็น ระบบเกษตรที่เน้นการจัดสรรทรัพยากรน้ำในไร่นา เพื่อสร้างผลผลิตอาหารที่พอเพียงและเพื่อการผลิตที่หลากหลาย สำหรับเป็นแหล่งรายได้ที่มั่นคงแก่ครัวเรือนเกษตรกร ตลอดจนเป็นการแก้ไขปัญหาความยากจน และขาดแคลนทรัพยากรให้บรรเทาลง จนกระทั่งพัฒนาถึงขั้นที่เกษตรกร สามารถพึ่งตนเองได้
วัตถุประสงค์ของการเกษตรทฤษฎีใหม่ 3 ประการ
                   (1) ความมั่นคงทางด้านอาหาร ทำให้มีอาหารเพื่ออุปโภคและบริโภคภายครัวเรือนเป็นการพึ่งพาตนเอง ลดการพึ่งพาจากภายนอก จึงก่อให้เกิดความมั่นคงทางด้านอาหาร
                   (2) การจัดการทรัพยากรน้ำ เน้นการจัดหาแหล่งน้ำเพื่อสนับสนุนการผลิตในไร่นามีการจัดการบริหารน้ำที่มีอยู่อย่างเกิดประโยชน์สูงสุด
                   (3) ความมั่นคงทางด้านรายได้ เน้นการทำเกษตรเพื่อการบริโภคในครัวเรือนและจำหน่ายในส่วนที่เหลือ จึงจะก่อให้เกิดรายได้ที่มั่นคงแก่เกษตรกร และเป็นการลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือนอีกด้วย
หลักการของเกษตรทฤษฎีใหม่
1.หลักการทั่วไปของเกษตรทฤษฏีใหม่
เป็นรูปแบบการทำการเกษตร สำหรับเกษตรกรรายย่อยที่มีพื้นที่ทำกินอย่างน้อย10-15 ไร่ในเขตน้ำฝน
การมีแหล่งน้ำในไร่นา สามารถใช้ประโยชน์น้ำเพื่อทำการเกษตรทั้งการปลูกพืชและประมง
เกษตรกรมีพื้นที่ทำนาซึ่งผลิตอาหารหลัก ให้มีผลผลิตเพียงพอแก่การบริโภค
การแบ่งพื้นที่การเกษตรให้หลากหลายเพื่อการบริโภคในครัวเรือนและขายเพื่อเป็นรายได้สู่ครอบครัว

การทำกิจกรรมหลายอย่างเป็นการใช้ทรัพยากรได้อย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพ
การปลูกไม้ผลและไม้ยืนต้น ไม้ผลไว้บริโภค มีฟืนไว้ใช้ เป็นการสร้างความชุ่มชื้นแก่ธรรมชาติ
การมีแหล่งกักเก็บน้ำในไร่นา เกษตรกรจะใช้น้ำอย่างประหยัดเห็นคุณค่าและเพิ่มปริมาณน้ำได้มากขึ้น
2. กิจกรรมเชิงระบบของการเกษตรทฤษฎีใหม่
กิจกรรมด้านแหล่งน้ำ ได้แก่ การใช้น้ำเพื่อการเกษตรอุปโภคและบริโภคในครัวเรือน ตลอดจนเลี้ยงปลาและสัตว์น้ำอื่นๆ ควรมีแหล่งน้ำขนาดใหญ่ไว้รองรับในฤดูแล้ง
ถ้าพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมกับการปลูกข้าวหรือปลูกข้าวไม่ได้ ก็ไม่ใช่เกษตรทฤษฎีใหม่ได้ แต่เป็นการทำไร่หรือทำสวนตามปกติ
ถ้าขุดบ่อแล้วเก็บน้ำไม่ได้ ก็ไม่ใช่การเกษตรทฤษฎีใหม่ แต่เป็นการเกษตรที่ใช้น้ำฝนตามปกติ
บางรายที่มีสระน้ำขนาดเล็กอยู่แล้ว เป็นเกษตรกรรมโดยปกติถ้าเพียงปลูกข้าวหรือพืชผักสวนครัวหรือพืชไร่อย่างเดียว แต่ถ้าเปลี่ยนไปปลูกข้าวผสมกับพืชสวนและพืชไร่ ในส่วนผสมที่ใกล้เคียงกับ 30:30:30:10 ก็จัดได้ว่าเป็นการเกษตรทฤษฎีใหม่ได้




การเปรียบเทียบและเงื่อนไขเบื้องต้นชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ปัจจัยหลักของการเกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่คือ เป็นรูปแบบของการเกษตรในพื้นที่ขนาดเล็ก(10-15ไร่) ควรอยู่นอกเขตชลประทานที่สมบูรณ์มีการจัดการน้ำในรูปแบบของสระน้ำในไร่นา มีการปลูกข้าวเพื่อความมั่นคงทางด้านอาหารภายในครัวเรือน และมีกิจกรรมทางการเกษตรที่หลากหลาย เพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจ
เพิ่มความอุดมสมบูรณ์ในดินและสร้างความสมดุลของระบบนิเวศ อย่างไรก็ดี หากเกษตรกรมีพื้นที่มากกว่านี้ควรจะต้องแบ่งทำส่วนหนึ่งตามวิธีทฤษฎีใหม่ ตามกำลังของครอบครัว ส่วนพื้นที่ที่เหลือต้องทำแบบเดิม สำหรับเกษตรกรที่อยู่ในเขตทำสวนไม้ยืนต้น และสวนผลไม้อยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนมาทำเกษตรวิธีนี้

การพัฒนาเกษตรทฤษฎีใหม่ในประเทศไทย
จากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ต่อโครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณวัดมงคลชัย ต.เขาดินพัฒนา อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.สระบุรี โดยมูลนิธิชัยพัฒนา สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ(กปร) กรมวิชาการเกษตร และหน่วยราชการอื่นๆและมีวัดมงคลชัยพัฒนาเป็นแกนกลางในการประสานงานพัฒนา และได้เริ่มทำการจัดแบ่งพื้นที่เพื่อทำการเกษตรทฤษฎีใหม่ เริ่มต้นดำเนินการในปี 2532 โดยใช้เป็นพื้นที่สำหรับการศึกษาและพัฒนารูปแบบการเกษตรทฤษฎีใหม่ ภายหลังจากที่ดำเนินการจนประสบความสำเร็จ สามารถพลิกฟื้นความอุดมสมบูรณ์ของดิน และเพิ่มผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ให้เพิ่มขึ้น โดยมีต้นทุนลดลง ทั้งยังมีการผลิตอาหารในไร่นาเพื่อใช้ในครัวเรือนเพิ่มมากขึ้น จึงได้มีการขยายผลสู่พื้นที่ในไร่นาของเกษตรกรรอบโครงการ และเกษตรกรในพื้นที่อื่นๆ ต่อจากนั้นในปี 2536 ได้มีการดำเนินการอีก 1 โครงการ คือ ที่บ้านแตนสามัคคี ต.คุ้มเก่า อ.เขาวง จ.กาฬสินธุ์
            ในการขยายผลสู่พื้นที่อื่นๆ นั้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ดำเนินการโดยมี โครงการที่สำคัญ2โครงการคือ
1.โครงการปีรณรงค์เพื่อขยายผลไร่นาสวนผสมตามแนวทฤษฎีใหม่
2. โครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริ
รูปแบบการผลิตทางการเกษตรทฤษฎีใหม่
เป็นรูปแบบการผลิตที่เพิ่งมีการนำเสนอในประเทศไทย ดังนั้นจึงยังไม่มีการพัฒนาในรูปแบบย่อยๆ อย่างชัดเจน ส่วนใหญ่จะดำเนินการไปโดยยึดหลักการโดยทั่วไปเป็นหลัก อย่างไรก็ตามแนวทฤษฎีใหม่ไปประยุกต์ใช้ก็อาจจะทำให้เกิดรูปแบบที่มีลักษณะเฉพาะ เหมาะสมกับพื้นที่ได้ในอนาคต เช่น อาจจะไม่ต้องใช้สระในสัดส่วนเท่ากับที่กำหนดไป
ข้อเด่นของการเกษตรทฤษฎีใหม่ สรุปได้ 5 ประการ คือ
1) เป็นแนวทางที่เน้นถึงวัตถุประสงค์ด้านความมั่นคงทางด้านอาหารภายในครัวเรือน
2) เป็นแนวทางที่เน้นการจัดการทรัพยากรน้ำในระดับไร่นา
3) เป็นแนวทางที่ไม่ยึดติดกับเทคนิคเฉพาะในการจัดการการผลิตในไร่นา
4) เป็นแนวทางที่เสนอแนวทางปฏิบัติได้อย่างเป็นลำดับขั้นตอน
5) เป็นแนวทางที่เน้นกลุ่มเกษตรกรเป้าหมายชัดเจน
การระบุกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจนว่าเป็นครัวเรือนเกษตรกรที่อยู่นอกเขตชลประทานที่มีพื้นที่ถือครอง 10-15ไร่อย่างไรก็ดีกลุ่มเกษตรที่มีที่ดินทำกินน้อยกว่า 10 ไร่รวมถึงเกษตรกรที่ไม่มีที่ดินทำกิน
ยังมิใช่กลุ่มเป้าหมายหลักของการเกษตรทฤษฎีใหม่ ความท้าทายของการพัฒนาการเกษตรและการพัฒนาชนบทในอนาคตคือการพยายามปรับปรุงหรือดัดแปลงการเกษตรทฤษฎีใหม่ เพื่อพัฒนากลุ่มเกษตรกรที่ยากจนที่สุดในสังคมไทย