วันพุธที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2559

รายงานโครงงาน





รายงานโครงงาน


ปก
บทคัดย่อ
สารบัญ
บทที่  1      บทนำ
                        ที่มาและความสำคัญของโครงงาน
                        วัตถุประสงค์
                        สมมติฐานของโครงงาน (ถ้ามี)
                        ตัวแปรที่เกี่ยวข้อง
                        นิยามศัพท์
บทที่  2      เอกสารที่เกี่ยวข้อง (ใช้ประกอบการศึกษา)
บทที่  3      วิธีดำเนินงาน
                        ลำดับขั้นของกิจกรรม
                        วิธีการแต่ละขั้นตอน
                        วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้
                        สถานที่ที่ดำเนินงาน
บทที่  4      ผลการดำเนินงาน
บทที่  5       สรุป อภิปรายผล  และเสนอแนะ

บรรณานุกรม/เอกสารอ้างอิง
ภาคผนวก



วิธีการนำเสนอโครงงาน
การนำเสนอโครงงานสามารถทำได้หลายวิธี  ดังนี้
1.       รายงานโครงงานด้วยเอกสาร
2.       การนำเสนอด้วยวาจา
3.       การนำเสนอด้วยการจัดนิทรรศการแสดงผลงาน

1.  รายงานโครงงานด้วยเอกสาร
          การจัดทำรายงานโครงงานเป็นการนำเสนอโครงงานด้วยเอกสาร มีความสำคัญมากกว่าการนำเสนอด้วยวิธีการอื่นๆ  ผู้จัดทำโครงงานควรจะต้องจัดทำรายงานเป็นลายลักษณ์อักษร โดยจัดทำเป็นรูปเล่ม ทั้งนี้เพราะรายงานสามารถลำดับความได้อย่างเป็นระบบระเบียบ ครอบคลุมรายละเอียดต่างๆ  ได้ดีที่สุด นอกจากนั้นรายงานโครงงานยังสามารถเผยแพร่ได้ง่าย บุคคลต่างๆ สามารถนำไปศึกษา ณ ที่ใดก็ได้มีการจัดทำ 2 ลักษณะ คือ รายงานโครงงานฉบับสมบูรณ์ และรายงานโครงงานฉบับสรุป
          รายงานโครงงานฉบับสมบูรณ์
          รายงานโครงงานไม่ได้มีรูปแบบที่ตายตัว ซึ่งมีหัวข้อดังต่อไปนี้
          1.  บทคัดย่อ  คือ การกล่าวถึงโครงงานโดยสรุป ซึ่งจะครอบคลุมเนื้อหา 3 ประการ คือ  เหตุจูงใจในการทำโครงงาน  วิธีการดำเนินงานและผลที่ค้นพบ บทคัดย่อมีประโยชน์ในการช่วยให้ผู้สนใจโครงงานได้เห็นภาพรวมของโครงงานได้อย่างรวดเร็ว  หากสนใจโครงงานนั้นจริงๆ  จึงไปศึกษารายละเอียดภายในเล่มต่อไป หากอ่านบทคัดย่อแล้วพบว่า ไม่ตรงกับความต้องการก็ไม่ต้องเสียเวลาไปศึกษารายละเอียดภายใน   เล่มนั้นอีก  จะได้ไปศึกษาโครงงานอื่นที่ตรงกับความต้องการของตนต่อไป  บทคัดย่อโดยทั่วไปมีความยาว 6-8 บรรทัด
          2.  ความเป็นมา  คือ การกล่าวถึงเหตุจูงใจในการเลือกทำโครงงานนั้น เช่น เห็นว่าเป็นปัญหา อยากหาหนทางหรือวิธีการแก้ไข  หรือมีความสงสัยต่อเรื่องนั้น หรือเห็นว่าน่าจะมีหนทางพัฒนาวิธีการ ขั้นตอนหรือเครื่องมือนั้นได้ด้วยวิธีการของผู้ทำโครงงาน
          3.  ความสำคัญ คือ การกล่าวถึงความสำคัญของโครงงานที่ศึกษาว่าข้อค้นพบที่ได้จะมีความสำคัญ หรือมีประโยชน์อย่างไรกับใครบ้าง
          4.  วัตถุประสงค์  กล่าวถึงการดำเนินโครงงานนั้นว่าทำโครงงานนั้นเพื่อหาคำตอบใดบ้าง  ควรเขียนให้ชัดเจนถึงโครงงานที่จะศึกษาเป็นข้อๆ  เช่น
                   -  เพื่อศึกษาว่า………………………………………………..
                   -  เพื่อศึกษาว่า………………………………………………..
          5.  เนื้อหาความรู้ที่เกี่ยวข้องนักเรียนจะต้องบอกไว้ด้วยว่าโครงงานของนักเรียนใช้ความรู้เรื่องอะไรบ้าง  นักเรียนควรเขียนไว้ให้หมด เพื่อให้เห็นว่าโครงงานของนักเรียนเป็นโครงงานที่มีคุณค่า ใช้วิชาความรู้หลายๆ  ด้านมาประกอบกันในการหาคำตอบ เช่น โครงงานเรื่องของเหลวเมื่อเปลี่ยนสถานะเป็นของแข็งจะมีน้ำหนักเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ ความรู้ที่ต้องใช้มีดังต่อไปนี้
                   -  การชั่ง
                   -  สถานะของสสาร
                   -  การทำให้ของเหลวเปลี่ยนสถานะ
                   -  การบวก การลบ จำนวนทศนิยม
                   -  การเปรียบเทียบทศนิยม
                   -  การออกแบบตารางและการบันทึกข้อมูลในตาราง
          6.  การดำเนินงาน เป็นการกล่าวถึงวิธีการดำเนินงานตั้งแต่เริ่มโครงงานจนงานสำเร็จ  ในการเขียนนักเรียนควรระบุสิ่งที่นักเรียนควบคุมหรือสิ่งที่นักเรียนต้องระมัดระวังเรื่องที่จะเข้ามาแทรกซ้อนที่จะเข้ามามีผลต่อโครงงานของนักเรียนด้วย นั่นคือ รายละเอียดของเรื่องนิยามศัพท์ (ถ้ามี)  ขอบเขตของโครงงาน               ตัวแปรต้น  ตัวแปรตาม  ตัวแปรที่ต้องควบคุม วิธีเก็บข้อมูล  วิธีวิเคราะห์ข้อมูล ตลอดจนวิธีดำเนินงานร่วมกันกับอาจารย์ที่ปรึกษาหรือกับบุคคลอื่นควรเขียนรวมไว้ด้วย  รวมทั้งอาจแสดงแผนการดำเนินงานและวัสดุอุปกรณ์หรืองบประมาณที่ใช้ในการดำเนินโครงงาน  การเขียนควรเขียนเป็นข้อๆ  และมีการลำดับขั้นตอนที่ดี
          7.  ผลการดำเนินงานกล่าวอย่างละเอียดว่าเรื่องใดมีข้อค้นพบอย่างไร ควรกล่าวตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้  ถ้าข้อมูลสามารถใส่ในตารางได้  นักเรียนควรออกแบบตาราง  นำข้อมูลใส่ในตาราง  จะทำให้การวิเคราะห์ข้อมูลทำได้ง่ายขึ้น  หรืออาจทำเป็นแผนภูมิหรือกราฟ แล้วแต่ความเหมาะสม  ข้อมูลของผลการดำเนินงานควรนำไปสู่การสรุปผล
          8.  สรุปผล เป็นการสรุปผลข้อค้นพบ ควรสรุปให้สามารถตอบจุดประสงค์ให้ครบทุกข้อ ถ้าวัตถุประสงค์ตั้งไว้ 2 ข้อ ก็ควรสรุปผลตอบให้ได้ครบทั้ง 2 ข้อ
          9.  ข้อเสนอแนะ จะเป็นการเขียนแนะนำผู้อ่าน เช่น โครงงานต่อไปควรทำเรื่องใด โครงงานที่ทำนี้นักเรียนเห็นว่าน่าจะนำไปใช้ประโยชน์เรื่องใดได้บ้าง หรือแนะนำว่าถ้าผู้อื่นจะทำโครงงานในลักษณะใกล้เคียงกันจะต้องระมัดระวังเรื่องใดบ้าง
          10. เอกสารอ้างอิง  เป็นการเขียนบอกแหล่งค้นคว้าข้อมูลทั้งการค้นคว้าจากเอกสารและ                 การสัมภาษณ์ผู้รู้ต่างๆ  ครูควรแนะนำให้นักเรียนเขียนให้ถูกต้องตามหลักการอ้างอิง ซึ่งโดยทั่วไปมีลักษณะ ดังนี้
              ชื่อผู้แต่ง.  ชื่อหนังสือ.  ครั้งที่พิมพ์.  จังหวัดที่พิมพ์
       ชื่อโรงพิมพ์.  ปีที่พิมพ์.


  
รายงานโครงงานฉบับย่อ
          รายงานโครงงานฉบับย่อเหมาะสำหรับกรณีต่อไปนี้
          1.  นักเรียนเล็กยังไม่สามารถเขียนเรียบเรียงได้
          2.  นักเรียนที่ไม่ชอบการเขียนหรือมีปัญหาเรื่องการเขียนเรียบเรียง
          3.  ใช้รายงานเบื้องต้น เพื่อนำเสนองานต่อครูและเพื่อนในชั้นเรียน เพื่อรับฟังข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ นำมาปรับปรุงให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น
          4.  ใช้เผยแพร่ประกอบการจัดนิทรรศการแก่ผู้มาชมนิทรรศการ
          รูปแบบของรายงานโครงงานฉบับย่อ  แล้วแต่ครูและผู้ทำโครงงานจะกำหนด แต่ควรให้ผู้อ่านได้รับทราบว่าโครงงานนั้นจัดทำขึ้นเพราะเหตุใด มีวิธีการดำเนินงานอย่างไร  ผลเป็นอย่างไรและมีประโยชน์อย่างไร        
         
2.  การนำเสนอด้วยวาจา
          มักใช้นำเสนอให้คนเป็นจำนวนมากได้รับฟัง เช่น การนำเสนอหน้าชั้นเรียน นำเสนอต่อกลุ่มผู้สนใจ นำเสนอต่อที่ประชุม นำเสนอต่ออาจารย์ การนำเสนอด้วยวาจา อาจมีการแจกรายงานโครงงานประกอบ หรืออาจจัดทำเพียงสรุปแจก หรืออาจมีผลผลิตที่ได้จากการทำโครงงานประกอบ หรืออาจมีการใช้ ICTประกอบการนำเสนอด้วยวาจา  มีข้อดี คือ ผู้ทำโครงงานสามารถชี้แจงข้อสงสัยแก่ผู้มาฟังได้ทันที และสามารถรับฟังข้อเสนอแนะจากผู้รับฟังได้ทันทีด้วยเช่นเดียวกัน  แต่มีข้อจำกัดสำหรับบุคคลที่ไม่ถนัดหรือไม่ชอบพูดต่อหน้าคนจำนวนมาก อาจทำให้การชี้แจงไม่สมบูรณ์หรือทำให้ผู้ฟังไม่เข้าใจ  หรือเข้าใจโครงงานนั้นผิดพลาด คลาดเคลื่อนไปได้  ดังนั้นนักเรียนควรตรวจสอบการเตรียมการให้ดี ซึ่งจะทำให้นักเรียนมีความมั่นใจและมีกำลังใจมากขึ้น