วันพุธที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2559

บทเรียนที่ 7 กระบวนการผลิตสัตว์ เรื่องสัตว์น้ำ



บทเรียนที่ 7 กระบวนการผลิตสัตว์ เรื่องสัตว์น้ำ
 เรื่องสัตว์น้ำ                               



 สัตว์น้ำ     คำว่า สัตว์น้ำหมายถึง ปลา เต่า กบ กุ้ง แมงดา สัตว์น้ำจืด พวกเลื้อยคลาน ทั้งไข่ของสัตว์น้ำทุกชนิด สัตว์น้ำจำพวกเลี้ยงลูกด้วยนม สัตว์พวกหอย รวมทั้งเปลือกหอยและมุก สัตว์น้ำจำพวกปลิงทะเล ฟองน้ำและสาหร่ายทะเล รวมตลอดสัตว์น้ำอื่น ๆ ที่อยู่ในน้ำและพันธุ์ไม้น้ำอื่น ๆ ตามที่มีอยู่ในพระราชกฤษฎีการะบุไว้นับได้ว่าตีความหมายของสัตว์น้ำได้อย่างกว้างขวางมาก (ตาม พ.ร.บ.การประมงพ.ศ.2490 มาตรา 4) ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีสัตว์น้ำอุดมสมบูรณ์ การประมงเป็นอาชีพหลักที่มีความสำคัญต่อประเทศ เป็นอย่างมาก สัตว์น้ำเป็นอาหารสำคัญที่ประชากรไทยบริโภคเป็นประจำ และมีความหมายสำคัญรองลงมาจากข้าว เนื่องจากปลาเป็นอาหารโปรตีนที่มีราคาต่ำกว่าอาหารโปรตีนประเภทอื่น ๆจึงเหมาะกับประชากรส่วนใหญ่ของประเทศที่มีรายได้น้อย ในปัจจุบันประชากรของประเทศเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้การจับปลามาบริโภคมีมากขึ้น นอกจากจับปลามาบริโภคแล้วยังส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศด้วย ดังนั้น ทรัพยากรสัตว์น้ำจึงลดจำนวนลงอย่างรวดเร็วจำเป็นอย่างยิ่งที่ประชากรทุกคนจะได้มีการอนุรักษ์สัตว์น้ำกันอย่างจริงจัง

ประโยชน์ของสัตว์น้ำ (ปลา)
            1. เป็นอาหาร โดยเฉพาะชาวเอเชียแล้วกล่าวได้ว่า ปลามีฐานะคู่กัน มักกล่าวกันอยู่เสมอว่า
ข้าวในนา ปลาในน้ำและปลาให้โปรตีน ไอโอดีน และวัตถุธาตุอื่น ๆ ที่ร่างกายต้องการอยู่เป็นอันมาก และเนื้อปลาย่อยง่าย กินได้มาก ไม่เบื่อเร็ว ทั้งราคาก็ถูกด้วย นอกจากจะเป็นอาหารมนุษย์แล้วยังเป็นอาหารสัตว์อีกด้วย
           2. เป็นสินค้า เนื่องจากมนุษย์ทุกชาติทุกภาษาต่างก็กินปลาสดปลาเค็มประจำ ปลาแห้ง น้ำปลา หรือผลิตภัณฑ์อย่างใดอย่างหนึ่ง จะเป็นว่าตามตลาดต่าง ๆ จะมีปลาขายอยู่เป็นประจำ ท้องถิ่นไหนที่มีปลามากเกินบริโภคก็ส่งเป็นสินค้าออก ฉะนั้น ปลาจึงเป็นสินค้าที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง
3. เกิดอุตสาหกรรมประมง เมื่อปลากลายเป็นสินค้าที่มีผู้บริโภคมาก จึงทำให้ประชาชนมีการจับและเพาะเลี้ยงมากขึ้น เมื่อจับได้มาก ๆ ก็หาวิธีเก็บรักษาไว้กินในกาลข้างหน้าด้วย การทำเป็นอุตสาหกรรมห้องเย็น ปลาเค็ม ปลาตากแห้ง ปลากระป๋อง โรงงานน้ำปลา ปลาป่น เป็นต้น ครั้งแรกก็เป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือน ต่อมาก็ขยายเป็นอุตสาหกรรมใหญ่โต และอุตสาหกรรมข้างเคียงก็เกิดตามมา
                4. ให้ผลพลอยได้อื่น ๆ เช่น ให้น้ำมันเพื่อใช้ปรุงอาหาร เป็นเชื้อเพลิง ทำสบู่ และทำสีทาสิ่งก่อสร้าง ให้น้ำมันตับปลาใช้ในการแพทย์ ครีบปลาใช้ทำหูฉลาม เศษปลาใช้ทำปุ๋ย และป่นเลี้ยงสัตว์ หนังปลาใช้ทำเครื่องหนัง เกล็ดใช้ประดิษฐ์เป็นเครื่องประดับ กระเพาะลมใช้เป็นยาบำรุงโลหิต ฯลฯ เป็นต้น
5. ปลากำจัดแมลง แมลงหลายชนิดชอบวางไข่และมีลูกอ่อนเจริญเติบโตในน้ำ แมลงเหล่านี้เป็นภัยต่อคนและสัตว์ ดังนั้น เมื่อมีปลาบางชนิดชอบกินไข่และลูกอ่อนของแมลงเหล่านั้น จึงเป็นประโยชน์ต่อมนุษย์และสัตว์เป็นอย่างมาก เช่น ปลากระดี่ ปลาแรด ปลาสลิด เป็นต้น
6. ประโยชน์ในการศึกษา ปลาเป็นสัตว์ชนิดหนึ่งที่ใช้ในการทดลองค้นคว้าเปรียบเทียบอ้างอิง ในฐานะเป็นส่วนประกอบของชีวภาพ อันเป็นศาสตร์พื้นฐานแขนงหนึ่ง การศึกษาที่ต้องพาดพิงถึงสัตว์พวกปลาอย่างมาก เช่น สมุทรศาสตร์ และชีววิทยาประยุกต์ เป็นต้น ดังนั้น การศึกษาเรื่องปลา นอกจากทำให้เกิดความเข้าใจอันดีในชีววิทยาของปลา ที่เป็นส่วนประกอบอันสำคัญยิ่งของมวลสัตว์โลกและธรรมชาติแล้วยังเป็นประโยชน์ต่อสังคมมนุษย์อีกด้วย
7. เป็นธรรมชาติประดับโลกให้สวยงามมื่อเรานำปลามาเลี้ยงประดับบ้าน จะเป็นเครื่องประดับที่มีชีวิตจิตใจและน่ารักน่าเอ็นดู ก่อให้เกิดความเพลิดเพลิน เจริญตา เจริญใจแก่ผู้เป็นเจ้าของยิ่งนัก การเลี้ยงปลาจึงนับเป็นงานอดิเรก ซึ่งช่วยผ่อนคลายความเคร่งเครียดจากงานประจำวัน ทั้งยังช่วยปลูกฝังความเมตตาปราณี เพิ่มพูนคุณธรรมทางจิตใจ ส่งเสริมให้เกิดความคิดสร้างสรรค์แก่อนุชน เป็นการแสดงออกซึ่งชุมชนที่รักธรรมชาติ เป็นต้น
ที่มา  www.kasetonline.net
         www.dld.go.th