วันพุธที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2559

บทเรียนที่ 7 กระบวนการผลิตสัตว์ เรื่องสัตว์ใหญ่


บทเรียนที่ 7 กระบวนการผลิตสัตว์ เรื่องสัตว์ใหญ่
เรื่องสัตว์ใหญ่
                 

                  สัตว์ใหญ่เป็นสัตว์เคี้ยวเองเลี้ยงลูกด้วยนมที่มีขนาดมากกว่า 500 กิโลกรัม มีอยู่ด้วยกันหลายชนิด ได้แก่วัว ควาย ช้าง ม้า อูฐ และลา เป็นต้น สัตว์ใหญ่เป็นสัตว์ที่มีอิทธิพลและมีประโยชน์ต่อมนุษย์หลายด้าน โดยเฉพาะในสังคมชนบทเปรียบเทียบสัตว์เสมือนสมาชิกในครอบครัว ซึ่งประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการเลี้ยงสัตว์ใหญ่มีหลายชนิด
  1. สัตว์ใหญ่เป็นแหล่งอาหารโปรตีนที่สำคัญที่ได้รับความนิยมสูง ได้แก่ เนื้อ และนม เป็นต้น
  2. ผลิตภัณฑ์และซากจากสัตว์ใหญ่สามารถนำมาทำของใช้ และใช้เป็นเฟอร์นิเจอร์และ
เครื่องประดับชนิดต่างๆ มากชนิด เช่น กระเป๋า รองเท้า เป็นต้น
3.    สัตว์ใหญ่เป็นแหล่งให้ประชาชนประกอบอาชีพการเลี้ยงสัตว์ ที่สร้างรายได้เป็นประจำมากสำหรับผู้เลี้ยง
4.    สัตว์ใหญ่เป็นแหล่งรายงานทางเกษตรและการคมนาคม ช่วยลดการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นอย่างดี
5.   สัตว์ใหญ่เป็นแหล่งให้ความสนุกเพลิดเพลินและเป็นการกีฬาได้เป็นอย่างดี เช่น การแข่งวิ่งควาย และการแข่งม้า เป็นต้น
6.   สัตว์ใหญ่สามารถใช้ประโยชน์ในการกำจัดวัชพืชและผลผลิตส่วนเกินที่ได้มาจากการทำการเกษตร เช่น ฟางข้าว ต้นข้าวโพด และผักตบชวา เป็นต้น
7.   สัตว์ใหญ่เป็นทรัพย์สินของครอบครัวและเป็นมรดกตกทอดให้แก่ลูกหลานได้ และสัตว์ใหญ่เป็นหลักทรัพย์ใช้ในการกู้เงินเมื่อเกิดภาวะวิกฤตได้
        8. สัตว์ใหญ่สามารถนำไปเป็นสัตว์ทดลองทางวิทยาศาสตร์ได้
        9.  สัตว์ใหญ่เป็นแหล่งให้เกิดอุตสาหกรรมการเกษตรในรูปแบบต่างๆได้แก่ อุตสาหกรรมการแปรรูปเนื้อสัตว์ อุตสาหกรรมอาหารและอุตสาหกรรมอาหารสัตว์เป็นต้น
      10. สัตว์ใหญ่สามารถเป็นเพื่อนกับผู้เลี้ยงและครอบครัวได้เป็นอย่างดี
      11. มูลสัตว์ใหญ่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง เช่น ทำปุ๋ยก๊าซ ชีวภาพ เป็นต้น
               
ปัจจัยที่มีผลต่อการเลี้ยงสัตว์

การเลี้ยงสัตว์ใหญ่มีปัจจัยสำคัญที่เป็นองค์ประกอบในการเลี้ยงหลายปัจจัย ซึ่งต้องขึ้นอยู่กับชนิดและพันธุ์ของสัตว์ใหญ่ที่เลี้ยงเป็นสำคัญ เพราะสัตว์ใหญ่แต่ละชนิดแต่ละพันธุ์มีลักษณะหรือความต้องการแตกต่างกัน ปัจจัยที่มีผลต่อการเลี้ยงสัตว์มีดังต่อไปนี้

  1. การเลือกสถานที่เลี้ยงสัตว์ใหญ่
สถานที่เลี้ยงเป็นจุดเริ้มต้นที่สำคัญสำหรับการเลี้ยงสัตว์ใหญ่ สถานที่นั้นจะต้องมีความกว้างใหญ่เหมาะสมกับปริมาณ ชนิด และพันธุ์ของสัตว์ใหญ่ที่เลี้ยง มีแหล่งน้ำที่ใช้ได้ตลอดปีเพื่อให้สัตว์ใช้ดื่มกินและชะล้างสิ่งสกปรก เป็นสถานที่ที่น้ำท่วมไม่ถึง มีความสะดวกทางด้านการคมนาคมขนส่งเพื่อขนส่งอาหารและผลผลิตไป จำหน่าย สถานที่เลี้ยงควรเป็นสถานที่ปราศจากโรคระบาดมาก่อนเพื่อลดความเสี่ยงในการติดโรคของสัตว์ และต้องไม่อยู่ห่างไกลหรือใกล้ชุมชนมากจนเกินไป เพราะจะทำให้เกิดความไม่สะดวกแก่ครอบครัวผู้เลี้ยง และสัตว์อาจจะก่อความรำคาญให้กับสมาชิกในชุมชนได้ เช่น สัตว์ร้องเสียงดัง กลิ่นจากมูลสัตว์ และสัตว์เลี้ยงอาจบุกรุกทำลายผลิตผลทางการเกษตรในพื้นที่ข้างเคียง เป็นต้น นอกจากนี้สถานที่เลี้ยงควรเป็นสถานที่ที่สามารถขยายกิจการได้เมื่อกิจการเจริญเติบโตขึ้น และ ที่สำคัญสิ่งแวดล้อมในบริเวณสถานที่เลี้ยงสัตว์ต้องไม่เป็นอุปสรรคต่อการเลี้ยง เช่น เป็นบริเวณที่มีขโมยชุกชุม เป็นบริเวณที่เกิดภัยธรรมชาติบ่อยครั้ง เป็นต้น

2. การเลือกชนิดและพันธุ์สัตว์ใหญ่ที่จะเลี้ยง
                การเลือกชนิดและพันธุ์สัตว์ใหญ่ที่จะทำการเลี้ยงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก พันธุ์สัตว์ที่ดีจะต้องเป็นพันธุ์ที่สามารถเจริญเติบโตเร็ว ให้ผลผลิตสูงทั้งสัตว์ประเภทให้เนื้อและให้นม หรือแข็งแรงทีกำลังมากสำหรับสัตว์ประเภทเลี้ยงเพื่อใช้แรงงาน ทนทานต่อโรค ภูมิอากาศ และไม่ดุร้าย นอกจากนั้นต้องพิจารณาถึงความต้องการของตลาดและแนวโน้มความต้องการในอนาคตว่าต้องการผลิตจากสัตว์ชนิดใด สภาพแวดล้อม และความพร้อมของผู้เลี้ยงเป็นสำคัญ และควรคำนึงวัตถุดิบในชุมชนและท้องถิ่นว่าสามารถนำมาใช้ในการเลี้ยงสัตว์ใหญ่ชนิดใดได้จะเป็นการประหยัดต้นทุนได้เป็นอย่างดี

3. การเลือกและสร้างโรงเรือนเลี้ยงสัตว์ใหญ่
                โรงเรือนเลี้ยงสัตว์ใหญ่มีหลายชนิด ซึ่งขึ้นอยู่กับชนิด พันธุ์ และรูปแบบการเลี้ยง สัตว์ใหญ่บางชนิดบางพันธุ์ไม่จำเป็นต้องมีโรงเรือนมีแค่คอกกั้นสัตว์กลางแจ้งก็มีเพียงพอแล้ว แต่สำหรับสัตว์ใหญ่บางชนิดบางพันธุ์โรงเรือนก็มีความจำเป็นและปัจจัยหนึ่งที่ทำให้สัตว์ใหญ่เจริญเติบโตได้ดี ไม่เป็นโรค ตลอดจนสะดวกต่อการดูแล เลี้ยงดู และการควบคุมคุณภาพของผลผลิต โรงเรือนเลี้ยงสัตว์ใหญ่ที่ดีนั้นจะต้องสอดคล้องและเหมาะสมกับชนิดและประเภทของสัตว์ใหญ่ที่เลี้ยง สะอาด สะดวกต่อการปฏิบัติงาน มีการระบายอากาศดีแสงแดดส่องถึง ไม่อับชื้น พื้นโรงเรือนแห้งอยู่เสมอ โรงเรือนควรเป็นแบบง่ายๆ สามารถทำการดัดแปลงเลี้ยงสัตว์ได้หลายชนิดและหลายประเภท เช่น แบบเพิ่งหมาแหงน แบบหน้าจั่ว เป็นต้น และที่สำคัญคือ ต้องมีราคาไม่แพงจนเกินไป สามารถใช้วัสดุในชุมชนและท้องถิ่นทำการก่อสร้างได้

4. วัสดุและอุปกรณ์ในการเลี้ยงสัตว์ใหญ่
                วัสดุและอุปกรณ์ที่ใช้ในการเลี้ยงสัตว์ใหญ่เป็นส่วนประกอบที่สำคัญที่จะขาดเสียมิได้ สัตว์แต่ละชนิดแต่ละพันธุ์มีการใช้อุปกรณ์ในการเลี้ยงที่แตกต่างกัน สัตว์บางชนิดใช้อุปกรณ์ในการเลี้ยงสัตว์มาก สัตว์บางชนิดใช้อุปกรณ์ในการเลี้ยงน้อย ทั้งนี้ต้องพิจารณาถึงความจำเป็นประโยชน์ในการใช้เป็นสำคัญ อุปกรณ์ในการเลี้ยงสัตว์ใหญ่ที่พบเห็นทั่วไป ได้แก่ รางอาหาร รางน้ำ เครื่องมือผสมอาหาร เครื่องมือตอนสัตว์ เป็นต้นอุปกรณ์ในการเลี้ยงสัตว์ใหญ่บางชนิดสามารถนำวัสดุในท้องถิ่นมาประยุกต์หรือดัดแปลงใช้ได้เป็นอย่างดี ซึ่งเป็นการลดค่าใช้จ่ายอีกวิธีหนึ่ง

5. การให้อาหารสัตว์ใหญ่
                การให้อาหารเป็นหัวใจสำคัญในการเลี้ยง อาหารที่จะให้สัตว์ใหญ่นั้นจะต้องเป็นอาหารที่ถูกกับชนิดและพันธุ์ที่เลี้ยง ตลอดจนต้องมีปริมาณเพียงพอ เพื่อให้สัตว์สามารถใช้ประโยชน์จากอาหารได้อย่างเต็มที่อาหารสัตว์ใหญ่โดยทั่วไปแบ่งออกเป็น 2 ประเภท  คืออาหารหยาบ ได้แก่ หญ้าสด หญ้าแห้ง พืชหมัก เป็นต้นและอาหารข้น ได้แก่ ปลายข้าว ข้าวโพด กากถั่ว และน้ำมันตับปลา ซึ้งไม่ว่าจะเป็นอาหารชนิดใดต้องมีสารอาหารครบถ้วนทั้ง 6 ชนิด คือ โปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไขมัน แร่ธาตุ วิตามิน และน้ำ เมื่อสัตว์กินอาหารที่ดีจะทำให้สัตว์เจริญเติบโตเร็ว มีร่างกายที่แข็งแรง ต้านทานโรคได้ดี และให้ผลผลิตสูง อาหารสัตว์ใหญ่ไม่จำเป็นต้องซื้อเสมอไป เราสามารถนำผลผลิตที่มีอยู่ในชุมชนและท้องถิ่นหรือวัสดุเหลือใช้จากการทำการเกษตรมาปรับปรุงเป็นอาหารสัตว์ใหญ่ได้เช่น ฟางข้าว ต้นและเปลือก ข้าวโพด เป็นต้น ซึ่งจำเป็นการลดต้นทุนการผลิตและเป็นการใช้ประโยชน์จากสิ่งเหลือใช้อีกวิธีหนึ่ง ทั้งนี้อาหารสัตว์ที่ปรับปรุงขึ้นต้องคำนึงถึงคุณค่าของสารอาหารว่าครบ 6 ชนิดหรือไม่ และเพียงพอต่อความต้องการของสัตว์ที่เลี้ยงด้วย

6. การสุขาภิบาลและการป้องกันโรคสัตว์ใหญ่
                การสุขาภิบาลและการป้องกันโรคสัตว์ใหญ่เป็นขั้นตอนหนึ่งที่ผู้เลี้ยงต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายกับสัตว์ที่ตนเองเลี้ยง และเป็นการทำให้สัตว์มีภูมิต้านทานโรค ซึ่งสาเหตุที่ทำให้สัตว์เป็นโรคจากเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส อาหาร และพยาธิเป็นหลัก นอกจากนั้น ปัจจัยอื่นๆ ที่ทำให้เกิดโรคของสัตว์ใหญ่ ได้แก่ ลักษณะของฤดูกาลและสภาวะแวดล้อมที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดทั้งปี ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้สัตว์อ่อนแอ รวมถึงการขาดแคลนสัตว์แพทย์ในการดูแลป้องกันโรค เป็นต้น ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับชนิดและพันธุ์สัตว์ใหญ่จึงควรปฏิบัติอย่างถูกต้อง รบถ้วน และสม่ำเสมอตามโปรแกรมที่กำหนด นอกจากนี้การปฏิบัติงานภายในฟาร์มก็เป็นส่วนสำคัญ ตลอดจนต้องมีความเอาใจใส่ ดูแล สังเกตพฤติกรรมสัตว์ที่ตนเองเลี้ยงอยู่เสมอเพื่อจะทำการป้องกันและกำจัดโรคที่เกิดกับสัตว์ของตนได้อย่างรวดเร็วทันเวลา
7.   การกำจัดของเสียจากสัตว์ใหญ่
                ของเสียที่เกิดจากการเลี้ยงสัตว์ใหญ่ ถ้าจัดการไม่ดีจะก่อให้เกิดปัญหาตามหลายอย่าง เช่น ส่งกลิ่นรบกวนสมาชิกในชุมชน ทำให้เกิดหมักหมมเป็นแหล่งสะสมและก่อให้เกิดโรคกับสัตว์ได้ ดังนั้น ของเสียที่เกิดขึ้นนั้นถ้าผ่านการจัดการและดำเนินการอย่างถูกวิธีจะเป็นประโยชน์อย่างมหาศาล เช่น มูลสัตว์สามารถนำไปหมักเป็นก๊าซชีวภาพใช้หุงต้มอาหารหรือใช้อบผักผลไม้ มูลสัตว์และน้ำที่ผ่านการทำความสะอาดโรงเรือนสามารถนำไปทำปุ๋ยคอกได้เป็นอย่างดี และในปัจจุบัน มูลสัตว์สามารถนำไปแปรรูปเป็นวัสดุของใช้ในชีวิตประจำวันของมนุษย์ได้ เช่น มูลช้างสามารถนำไปแปรรูปทำกระดาษเรียกว่า กระดาษมูลช้าง เป็นต้น ดังจะเห็นได้ว่าของเสียจากสัตว์ใหญ่มีคุณค่าและสามารถทำรายได้ให้แก่ผู้เลี้ยง เพียงแต่ผู้เลี้ยงจะต้องรู้จักวิธีการใช้ประโยชน์จากของเสียนั้นๆอย่างถูกต้อง

8.   การจำหน่ายผลผลิตจากสัตว์ใหญ่
                ผลผลิตจากสัตว์ใหญ่แต่ละชนิดแต่ละประเภทจะมีผลผลิตที่แตกต่างกัน ส่วนใหญ่ผลผลิตที่พบเห็นจะอยู่ในรูปของเนื้อและนมเป็นหลัก ผลผลิตดังกล่าวมีความต้องการของตลาดสูง ไม่ว่าจะเป็นการนำไปบริโภคโดยตรงหรือนำไปใช้เป็นวัตถุดิบในโรงงานอุตสาหกรรม การจำหน่ายผลผลิตเป็นขั้นตอนนึ่งที่สามารถชี้ให้เห็นว่าการเลี้ยงสัตว์ใหญ่ประสบความสำเร็จมากน้อยเพียงใด ซึ่งเกี่ยวข้องกับการคัดเลือกชนิดและพันธุ์ที่เลี้ยงตั้งแต่ต้นถ้าตลาดมีความต้องการสูง ผลผลิตย่อมได้ราคาสูงตามไปด้วย นอกจากนี้คุณภาพของผลผลิตที่ผลิตได้ก็มีส่วนสำคัญในการกำหนดราคา ซึ่งราคาที่เกิดขึ้นนี้จะดำเนินไปตามกลไกของตลาดเป็นหลัก การจำหน่ายผลผลิตสามารถจำหน่ายให้แก่พ่อค้าคนกลางที่มารับซื้อ หรือจำหน่ายให้แก่องค์การหรือบริษัทที่รับซื้อโดยตรงก็ได้

9.   การแปรรูปผลผลิตจากสัตว์ใหญ่
                เราสามารถเพิ่มมูลค่าของผลผลิตจากสัตว์ใหญ่ โดยการแปรรูปผลิตภัณฑ์ ซึ่งการแปรรูปส่วนใหญ่มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อใช้เป็นอาหาร เช่น น้ำนมสดสามารถนำมาทำเป็นนมพร้อมดื่มในรูปแบบของนมพาสเจอไรซ์ นมยูเอสที และสามารถนำไปทำผลิตภัณฑ์อื่นๆ เช่น นมข้น นมผง เนย และไอศครีม เป็นต้นนอกจากนั้นหนังและซากสัตว์ใหญ่ยังสามารถนำมาทำเป็นของใช้และเครื่องประดับที่มีคุณภาพที่ดีได้รับความนิยมและมีราคาสูง เช่น กระเป๋า รองเท้า เป็นต้น การแปรรูปผลิตภัณฑ์นี้ไม่จำเป็นต้องทำในรูปของอุสาหกรรมขนาดใหญ่ สามารถทำเป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือนได้ เช่น นมพาสเจอไรซ์ และเนื้อแดดเดียว เป็นต้น ซึ่งจำเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับผู้เลี้ยงตลอดจนใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์อีกด้วย

 นพคุณ ศิริวรรณ และวรพร สังเนตร. หนังสือประกอบการเรียนรายวิชาพื้นฐานกลุ่มสาระการงานอาชีพและเทคโนโลยี งานเกษตร ช่วงชั้นที่ 4. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช. 2545   หน้า168-171