วันพุธที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2559

บทเรียนที่ 7 กระบวนการผลิตสัตว์ เรื่อง การเลี้ยงสัตว์



หน่วยการเรียนรู้ที่ 3 / บทเรียนที่ 7 กระบวนการผลิตสัตว์

เรื่อง การเลี้ยงสัตว์


การเลี้ยงสัตว์ (Domestication) คือ สภาวะซึ่งการปรับปรุงพันธุ์ การบำรุงรักษา และการหาอาหารของสัตว์อยู่ภายใต้การควบคุมของมนุษย์

ความสำคัญของการเลี้ยงสัตว์        

บทบาทและความสำคัญของการเลี้ยงสัตว์

             การเลี้ยงสัตว์ปรกติเป็นงานควบคู่กันไปกับการปลูกพืชในชนบท แต่มีปริมาณไม่มากนัก ปัจจุบันมีการเลี้ยงสัตว์อาชีพหลักและอาชีพเสริม เพื่อมาตรฐานเศรษฐกิจของครอบครัว การเลี้ยงสัตว์จึงมีความสำคัญดังนี้

 1.  สัตว์เป็นอาหารสำคัญของมนุษย์

ตารางแสดงคุณค่าทางโภชนาการ




แหล่งที่มา: www.kasetonline.net

2. สัตว์ให้เครื่องใช้และเครื่องอุปโภคแก่มนุษย์           

-  ทำให้มีรายได้จากการจำหน่ายสัตว์ ผลิตภัณฑ์และส่วนต่างๆของสัตว์ เช่น เนื้อ นม ไข่ หนัง ขน มูลสัตว์ เป็นต้น

3. สัตว์เป็นแรงงานในชนบท

4.  การเลี้ยงสัตว์มีบทบาทต่อเสถียรภาพของสังคมชนบท

-  ทำให้ของเหลือทิ้งในไร่นาเป็นประโยชน์ เช่น ฟางข้าวและวังข้าวโพด เป็นต้น     

-  ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ทำให้เกิดความเพลิดเพลินและพัฒนาจิตใจให้เป็นคนใจเย็น สุขุม ทำให้เห็นคุณค่าของตัวเอง  

                               - เป็นการเพิ่มมูลค่าของสินค้า เช่น นำข้าวโพดมาใช้เป็นอาหารสัตว์ ทำให้เกิดรายได้สูงขึ้นแทนที่จะนำข้าวโพดไปขายอย่างเดียวในราคาต่ำ
                              -  ลดค่าเสี่ยงภัยการตลาดจากการพึ่งพาสินค้าเกษตรอย่างเดียว ถ้ามีสินค้าหลายอย่างจะช่วยเฉลี่ยรายได้ เพราะสินค้าแต่ละชนิดจะมีราคาสูงและต่ำไม่เท่ากัน สามารถนำมาเฉลี่ยกันได้ และสุดท้ายคือไม่ขาดทุน มีรายได้พอเลี้ยงตัวได้ หรือมีกำไรพอประมาณ สามารถดำเนินการธุรกิจการเลี้ยงสัตว์ต่อไปได้โดยไม่จำเป็นต้องล้มเลิกกิจการ



                 ประโยชน์ของการเลี้ยงสัตว์

         การเลี้ยงสัตว์ให้ประโยชน์ต่อผู้เลี้ยงมากมายหลายประการ ผู้ที่ประกอบอาชีพเลี้ยงสัตว์สามารถสร้างฐานะจนร่ำรวยได้ เป็นอาชีพที่ได้ผลตอบแทนสูง หากมองในภาพรวมตั้งแต่ผู้ประกอบอาชีพเลี้ยงสัตว์ ชุมชน สังคม และประเทศชาติได้รับประโยชน์จากการเลี้ยงสัตว์ทั้งสิ้น ซึ่งพอสรุปประโยชน์ของการเลี้ยงสัตว์ได้ 4 ประการใหญ่ ๆ ดังนี้

1. ประโยชน์ของการเลี้ยงสัตว์ต่อเศรษฐกิจของประเทศ
             สัตว์เลี้ยงจำพวกโคกระบือ สุกร ไก่และเป็ด ล้วนมีบทบาทต่อเศรษฐกิจของประเทศไทยเป็นอย่างยิ่ง เพราะนอกจากจะเป็นสินค้าจำหน่ายเพื่อการบริโภค เนื้อ นม ไข่ โดยตรงแล้ว ยังมีผลพลอยได้หลายชนิดทำเป็นเครื่องอุปโภคและเครื่องใช้ได้หลาย ๆ ประเภท สินค้าบางชนิด มีปริมาณมากจนกระทั่งสามารถส่งออกไปจำหน่ายต่างประเทศได้ด้วย นับว่าผลผลิตจากสัตว์นี้ ช่วยลดการเสียดุลการค้าได้ประการหนึ่ง (มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, 2545) ประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ของประชากรไทยมีอาชีพทำการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ แม้ว่าจำนวนผู้ประกอบอาชีพเกษตรจะมีแนวโน้มลดลงอันเป็นผลมาจากทิศทางของระบบเศรษฐกิจไทยมุ่งไปสู่การประกอบการด้านอุตสาหกรรม การเลี้ยงสัตว์นับเป็นอาชีพที่สำคัญของเกษตรกรไทย

2. ประโยชน์ของการเลี้ยงสัตว์ด้านเกษตรกรรม
การเลี้ยงสัตว์มีความสัมพันธ์กับการประกอบอาชีพเกษตรกรรมด้านอื่น ๆ หลายด้าน ซึ่งล้วนแต่มีความสัมพันธ์ทั้งสิ้น คือ

                2.1 การใช้แรงงานจากสัตว์ ประเทศไทยมีเนื้อที่ในการทำนาในปัจจุบันประมาณ 75 ล้านไร่ ซึ่งถ้าหากใช้รถแทรกเตอร์ไถนาเป็นเครื่องทุ่นแรงในการทำนาจะต้องใช้รถแทรกเตอร์ไถนาไม่ต่ำกว่า 2 แสนคัน ซึ่งเป็นไปไม่ได้ เพราะสภาวะทางเศรษฐกิจและระดับความรู้ทางเทคนิคของเกษตรกรไทยยังไม่อำนวย อีกทั้งราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่สูงขึ้นเป็นอุปสรรคต่อการที่เกษตรกรจะใช้เครื่องทุนแรงให้แพร่หลายได้ ดังนั้น แรงงานที่ใช้ในการเกษตรกรรมส่วนใหญ่จึงมาจากการเลี้ยงโค กระบือนั่นเอง

              2.2 การเลี้ยงสัตว์ช่วยเปลี่ยนแปลงผลผลิตในฟาร์มการเลี้ยงสัตว์ช่วยเปลี่ยนแปลงผลผลิตในฟาร์ม ซึ่งมนุษย์ไม่สามารถที่จะใช้ผลิตผลนั้นได้โดยตรง มาเป็นอาหารที่มีคุณค่าและมนุษย์ชอบ นอกจากนั้น สัตว์ยังเปลี่ยนผลผลิตที่เหลือจากมนุษย์กินมาเป็น เนื้อซึ่งได้ราคาสูงกว่าการขายผลิตผลนั้นโดยตรง จึงอาจกล่าวได้ว่า สัตว์เปรียบเสมือนตลาดรับซื้อพืชผลซึ่งมีราคาถูกแล้วเปลี่ยนเป็นเนื้อเพื่อให้ขายได้ราคาแพง หรือถ้าจะพูดอีกอย่างหนึ่งคือ การเลี้ยงสัตว์ช่วยทำให้ผลผลิตที่เกษตรกรผลิตได้มีราคาสูงขึ้น ย่อมเป็นผลทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น ถ้าหากเอาผลิตผลเหล่านั้นเลี้ยงมนุษย์อย่างเดียว

              2.3 การเลี้ยงสัตว์ช่วยลดต้นทุนการผลิตทางด้านเกษตรอื่นๆ เช่น การเลี้ยงปลาควบคู่กับการเลี้ยงสุกร โดยใช้มูลสุกรเป็นอาหารของปลา การใช้มูลไก่แห้งตั้งแต่ 10-40 เปอร์เซ็นต์ ของอาหารผสมเป็นอาหารของไก่ไข่และวัวเนื้อได้ ในภาคใต้ของประเทศไทยนิยมเลี้ยงวัวในสวนมะพร้าว เพื่อให้วัวกำจัดหญ้าในสวนมะพร้าว และให้มูลแก่มะพร้าว ทำให้มะพร้าวเจริญเติบโตและให้ผลดกขึ้น

              2.4 สัตว์ช่วยรักษาความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ดินทั้งนี้ เพราะมูลของสัตว์ประกอบด้วยแร่ธาตุต่าง ๆ ซึ่งเป็นปุ๋ยแก่พืชสัตว์จะให้มูลซึ่งนับเป็นปุ๋ยคอก ที่ทำให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์สูง แม้ว่าจะเป็นปุ๋ยที่มีอัตราการสลายตัวช้า แต่ปุ๋ยคอกจะช่วยทำให้โครงสร้างของดินดี ขึ้น ส่วนมูลกระบือเชื่อว่ามีค่าใกล้เคียงกับมูลโค นักวิชาการจึงได้เน้นอยู่เสมอว่าเกษตรกรจะต้องใส่ปุ๋ยอินทรีย์ในพื้นที่เพาะปลูกพืชอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง โดยเฉพาะพื้นที่ที่ต้องการเพิ่มผลผลิตพืชมากขึ้น ๆ สัตว์เลี้ยงพวกโค กระบือ จะถ่ายมูลสดไม่ต่ำกว่า 5 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักตัวต่อวัน การประมาณมูลสดที่ได้จากสัตว์ชนิดต่างๆ

             2.5 การเลี้ยงสัตว์ช่วยกำจัดวัชพืชได้เป็นอย่างดีเช่น หญ้าคา ผักตบชวา เป็นศัตรูที่ร้ายแรงต่อการปลูกพืชเป็นอย่างมาก ปีหนึ่ง ๆ เกษตรกรต้องเสียค่าใช้จ่าย ในการกำจัดวัชพืชเหล่านี้เป็นเงินหลายล้านบาท ถ้าหากเกษตรกรนำเอาวัชพืชเหล่านี้มาใช้เลี้ยงสัตว์ก็จะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ได้ และเป็นการประหยัดค่าอาหารสัตว์ไปในตัวอีกด้วย ตัวอย่าง เช่น การนำเอาผักตบชวาตากแห้งมาเป็นส่วนผสมของอาหารสุกรได้ถึง 20 เปอร์เซ็นต์ของอาหารทั้งหมด ทั้งนี้ เพราะผักตบชวาตากแห้งมีโปรตีนถึง 20.50 เปอร์เซ็นต์ คาร์โบไฮเดรต 33.6เปอร์เซ็นต์

ตารางผลพลอยได้ทางการเกษตรที่นำมาเลี้ยงสัตว์

3. ประโยชน์ของการเลี้ยงสัตว์ด้านสังคม
              การเลี้ยงสัตว์ช่วยแก้ไขปัญหาสังคมหลายประการ ซึ่งล้วนแต่เกื้อกูลสังคมทำให้สังคมส่วนใหญ่ของประเทศเป็นปกติสุข ดังนี้
             3.1 ลดปัญหาการว่างงานของประชาชน การที่ประชาชนในชาติไม่มีงานทำ ย่อมก่อให้เกิดปัญหาอื่น ๆ ตามมาอย่างมากมาย เช่น ชาวชนบทมีการอพยพจากไร่นาสู่เมือง ปัญหาโจรผู้ร้ายชุกชุม เพราะความยากจน ปัญหาโสเภณี ปัญหาจากผู้ก่อการร้าย ปัญหาการเกิดแหล่งเสื่อมโทรมเนื่องจากการอพยพจากชนบทสู่เมือง เป็นต้น หากประชาชนได้ประกอบอาชีพการเลี้ยงสัตว์ก็จะช่วยให้มีงานทำประจำปัญหาทางสังคมอันเกิดจากการว่างงานก็จะหมดไป

            3.2 ผลิตผลจากสัตว์ช่วยบำรุงพลานามัยของประชาชนอันเป็นกำลังของชาติ เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปแล้วว่า เนื้อ นม ไข่ เป็นอาหารพิเศษสำหรับพลานามัยของมนุษย์ ทำให้ ผู้บริโภคมีร่างกายแข็งแรงเติบโต ปราศจากโรคภัย มีความเข้มแข็งในการปฏิบัติงานและภารกิจ เกี่ยวกับเรื่องนี้ มีรายงานจากประเทศญี่ปุ่นกล่าวว่า คนญี่ปุ่นรุ่นใหม่มีความสูงมากกว่าคนญี่ปุ่นรุ่นเก่า (ก่อนสงครามโลก) ถึง 4 นิ้ว เขาอ้างว่า ทั้งนี้ เป็นเพราะคนญี่ปุ่นนิยมรับประทานอาหาร เนื้อ นม ไข่ กันมากขึ้น นม ไข่ นั้นมีวิตามินและสารอาหาร แร่ธาตุ บางอย่างที่หาไม่ได้หรือมีเพียงเล็กน้อยในอาหารประเภทอื่น ๆ

             3.3 การเลี้ยงสัตว์เป็นการให้การศึกษาแก่สมาชิกในครอบครัว โดยทั่วไปแล้วการประกอบอาชีพการเกษตรมักจะกระทำสืบต่อไปยังลูกหลาน ดังนั้น ในการที่ให้ลูกหลานได้ช่วยปฏิบัติงานเลี้ยงสัตว์อย่างถูกต้อง จึงเป็นการให้การศึกษาแก่บุตรหลานผู้ซึ่งต่อไปจะต้องประกอบอาชีพการเกษตรอยู่แล้ว เป็นการวางรากฐานอาชีพการเกษตรให้แก่เขา ถ้ามีโอกาสทำการเกษตรในโอกาสต่อไปก็จะเป็นเกษตรกรที่ดี สามารถประสบผลสำเร็จได้

            3.4 การเลี้ยงสัตว์เป็นการใช้แรงงานภายในครอบครัวให้เป็นประโยชน์ แรงงานจากเด็ก คนชรา หรือคนทุพพลภาพ สามารถนำมาใช้เลี้ยงสัตว์ได้เป็นอย่างดี หากนำมาใช้ประโยชน์ในเรื่องนี้ก็จะเป็นการช่วยป้องกันการสูญเปล่าทางแรงงาน และช่วยให้บุคคลดังที่กล่าวมาแล้ว ได้มีความภาคภูมิใจในความสามารถของตน และเห็นว่าตนก็สามารถทำประโยชน์ให้แก่ครอบครัวได้เช่นกัน

             3.5 การเลี้ยงสัตว์เป็นการฝึกนิสัยของผู้ประกอบการ ให้มีความรับผิดชอบ การตรงต่อเวลาและรู้จักการประหยัด

             3.6 การเลี้ยงสัตว์ช่วยสร้างความเพลิดเพลินให้กับผู้ปฏิบัติ อันจะทำให้มีสุขภาพจิตที่ดี คลายความเครียด

4. ประโยชน์ด้านอื่น ๆ ของการเลี้ยงสัตว์
             นอกจากประโยชน์ดังที่กล่าวมาแล้ว การเลี้ยงสัตว์ยังมีประโยชน์ในด้านอื่น ๆ อีกมากมายหลายประการซึ่งล้วนก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชากรของประเทศทั้งสิ้น ทั้งในด้าน อุตสาหกรรม ด้านพลังงาน การแพทย์ และการกีฬา เป็นต้น ประโยชน์ของการเลี้ยงสัตว์ด้านอื่น ๆ ได้แก่

             4.1 การเลี้ยงสัตว์ช่วยทำให้เกิดผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ทางอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมเครื่องหนังอุตสาหกรรมการทำปุ๋ยวิทยาศาสตร์จากกระดูกสัตว์

             4.2 การผลิตพลังงานจากมูลสัตว์ เช่น การผลิตแก๊สชีวภาพ (bio – gas) ทำได้โดยหมักมูลสัตว์ให้เกิดแก๊สมีเทน ซึ่งการผลิตแก๊สจากมูลสัตว์นี้กระทำแพร่หลายมากในประเทศอินเดีย ไต้หวัน สำหรับในประเทศไทยมีการผลิตแก๊สจากมูลสัตว์เพื่อใช้กับเครื่องสูบน้ำที่จังหวัดนครปฐม และผลิตแก๊สจากมูลสัตว์เพื่อใช้ในการหุงต้ม ที่ฟาร์มคีรีขันธ์ จังหวัดปทุมธานี

             4.3 การทำวัคซีนป้องกันโรคของสัตว์และของคน

             4.4 การทำกาวจากหนังสัตว์ ทำยาฟอกหนัง เครื่องสำอางจากไข่

             4.5 การเลี้ยงสัตว์เพื่อใช้กันขโมย การฝึกสุนัขเพื่อใช้จับคนร้าย

             4.6 การเลี้ยงสัตว์เพื่อเป็นเกมกีฬา



ผลพลอยได้จากสัตว์และการนำไปใช้



แหล่งที่มา:www.kasetonline.net

ประเภทของสัตว์

 การแบ่งประเภทของสัตว์เลี้ยงสามารถแบ่งได้หลายแบบด้วยกัน แต่ในที่นี้จะแบ่งประเภทของสัตว์เลี้ยงแบบลักษณะการเลี้ยงดู ดังนี้

1.      สัตว์ปีก หมายถึงสัตว์ที่มีปีก ไม่รวมถึงแมลง ได้แก่ ไก่ เป็ด ห่าน นกกระจอกเทศ
นกกระทา เป็นต้น

2.     สัตว์เล็ก หมายถึง สัตว์ที่มีขนาดเล็กกว่าร่างกายของมนุษย์โดยทั่วไป มีน้ำหนักไม่เกิน 500 กิโลกรัม เช่น สุกร แพะ แกะ กระต่าย สุนัข แมว เป็นต้น

3.    สัตว์ใหญ่ หมายถึงสัตว์ที่มีขนาดใหญ่มีน้ำหนักตัวเกิน 500 กิโลกรัม เช่น โค ช้าง ม้า ลา ล่อ เป็นต้น

4.     สัตว์น้ำ หมายถึงสัตว์ที่ดำรงชีวิตอยู่ในน้ำ ได้ กุ้ง หอย ปู ปลา เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีสัตว์ที่มีวิธีการเลี้ยงดูแตกต่างกันไป ที่ไม่สามารถจัดรวมกลุ่มได้
คือ ผึ้ง เต่า กบ ตะพาบน้ำ ไหม จระเข้  เป็นต้น



ปัจจัยในการเลี้ยงสัตว์

ในการเลี้ยงสัตว์ สัตว์ที่เลี้ยงไว้จะเจริญเติบโตได้ผลดีหรือไม่ ขึ้นอยู่กับปัจจัย 2 ประการ คือ พันธุกรรมกับสิ่งแวดล้อม
ปัจจัยที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม คือ

1.              ภูมิอากาศ ได้แก่ ความร้อน หนาวของอากาศ ความชื้น ฝน กระแสลม ซึ่งมีผลต่อการเจริญเติบโตของสัตว์ทั้งทางตรงและทางอ้อม ทางตรงคือ ความสุขสบายของสัตว์ ทางอ้อม คือเมื่อสัตว์สุขสบายก็จะเจริญเติบโตได้ดี

2.               อาหาร จัดเป็นสิ่งแวดล้อมอย่างหนึ่ง อาหารคือ สิ่งที่สัตว์กินเข้าไปแล้วไม่ก่อให้เกิดอันตรายกับสัตว์ สามารถถูกย่อยและดูดซึมเข้าไปในร่างกายของสัตว์เพื่อประโยชน์ในการดำรงชีพ ถ้าอาหารไม่เพียงพอจะทำให้สัตว์ขาดแร่ธาตุ สัตว์ก็จะเจริญตามปกติไม่ได้ และอาจเกิดโรคต่าง ๆ ตามมา

3.               ที่อยู่อาศัย สภาพโรงเรือนที่อยู่อาศัยของสัตว์ควรมีอากาศถ่ายเทสะดวก ไม่ร้อนหรือหนาวเกินไป คุ้มแดด คุ้มฝนได้ดี กันลมได้ และปราศจากศัตรูของสัตว์ เช่น นก หนู แมว สุนัข

4.               โรคและศัตรู โรคของสัตว์อาจจะเกิดจากสิ่งมีชีวิต หรือไม่มีชีวิตก็ได้ อาจเป็นพวกแบคทีเรีย ไวรัส พยาธิต่าง ๆ รวมทั้งอาการขาดธาตุอาหาร ซึ่งเราควรดูแลรักษาสัตว์ไม่ให้เป็นโรคต่าง ๆ เพราะการป่วยของสัตว์ก็เป็นการบั่นทอนการเจริญเติบโตของสัตว์



การเลี้ยงสัตว์ทุกชนิดนั้นผู้เลี้ยงต้องการให้สัตว์เลี้ยงของตนมีสุขภาพร่างกายที่สมบูรณ์ แข็งแรง มีการเจริญเติบโตที่เป็นปกติ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ก็อยู่ที่ผู้เลี้ยงสัตว์มีความรู้ ความชำนาญ ในการเลี้ยงสัตว์แต่ละชนิดเป็นอย่างดี ผู้เลี้ยงต้องรู้จักวิธีการป้องกันที่จะไม่ให้สัตว์เกิดโรค หรือหากเกิดโรคขึ้นแล้วจะรักษาได้อย่างไร ปัจจุบันโรคที่เกิดกับสัตว์มีอยู่หลายโรคทั้งโรคที่ไม่ติดต่อและโรคที่ติดต่อ เช่น โรคแท้งติดต่อ โรคเท้าและปากเปื่อย โรคแอนแทรกซ์ และโรคไข้หวัดนก เป็นต้น ซึ่งทั้งฝ่ายราชการและเอกชนก็ได้จับมือกันหาวิธีการป้องกันและกำจัดโรคที่เกิดกับสัตว์ให้หมดไป และในปัจจุบันก็ทำการป้องกันได้ระดับหนึ่ง แต่สัตว์เลี้ยงยังคงเกิดโรคระบาดในทุก ๆ ปี ดังนั้น ผู้ดำเนินกิจการเลี้ยงสัตว์จำเป็นที่จะต้องศึกษาหาความรู้เรื่องการป้องกันและรักษาโรคสัตว์เพื่อนำไปใช้ ในฟาร์มของตนเอง โดยมุ่งหวังให้สัตว์มีการเจริญเติบโตเป็นปกติและให้ผลตอบแทนสูงสุด

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับโรคสัตว์และการสุขาภิบาล

ผู้ดำเนินกิจการเลี้ยงสัตว์จำเป็นต้องรู้ข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับโรคและการสุขาภิบาลเสียก่อน ก่อนที่จะดำเนินกิจการเลี้ยงสัตว์เพราะถ้าหากผู้ที่ทำการเลี้ยงสัตว์ขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรค และการสุขาภิบาลแล้วการเลี้ยงสัตว์ก็มักจะไม่ประสบผลสำเร็จ ผู้เลี้ยงสัตว์ควรมีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับโรคสัตว์และการสุขาภิบาลดังนี้

1. ความหมายและความสำคัญของโรคสัตว์และการสุขาภิบาล
               สัตว์ที่มีสุขภาพดีจะเจริญเติบโตเป็นปกติ มีความสมบูรณ์แข็งแรงและให้ผลผลิตเป็นเนื้อ นม และไข่ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนสัตว์ที่อ่อนแอและเป็นโรคการให้ผลผลิตก็จะไม่เต็มที่ ซึ่งสัตว์เลี้ยงจะมีสุขภาพดีหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับการจัดการของผู้เลี้ยงเป็นสำคัญ ความหมายและความสำคัญของโรคสัตว์และการสุขาภิบาลมีดังนี้
               1.1 ความหมายของโรคสัตว์ โรคสัตว์ (disease) หมายถึง ความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับร่างกายสัตว์ ซึ่งอาจเกิดขึ้นกับอวัยวะใดอวัยวะหนึ่งหรือเกิดกับทุกระบบของร่างกาย มีผลทำให้การทำงานของอวัยวะต่าง ๆ เสียไป (เกรียงศักดิ์ พูนสุข, 2536) สัตว์จะดำรงชีพอย่างไม่ปกติ พิการ หรือตาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเกิดกับสัตว์เศรษฐกิจ เช่น โคนม โคเนื้อ สุกร ไก่เนื้อ และไก่ไข่ เป็นต้น (ดำรง กิตติชัยศรี, 2542)
               1.2 ความสำคัญของโรคสัตว์ โรคสัตว์มีความสำคัญและมีผลต่อธุรกิจการเลี้ยงสัตว์มาก ทั้งนี้เนื่องจาก
                        1.2.1 เมื่อสัตว์เกิดโรคจะให้ผลผลิตลดลง
                        1.2.2 เมื่อสัตว์เกิดโรคจะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษา
                        1.2.3 เมื่อสัตว์เกิดโรครายได้รวมของฟาร์มจะลดลง                                                       

                        1.2.4 เกิดผลเสียหายต่อเศรษฐกิจของประเทศ
                        1.2.5 โรคสัตว์บางโรคสามารถติดต่อถึงคนได้
                 1.3 การสุขาภิบาล (sanitation) หมายถึง การจัดการใด ๆ เกี่ยวกับสภาพแวดล้อม ให้เอื้ออำนวยและเหมาะสมกับความต้องการโดยธรรมชาติของสัตว์แต่ละชนิด ทั้งนี้เพื่อให้สัตว์ มีสุขภาพแข็งแรง มีการเจริญเติบโตดีและให้ผลผลิตสูง ซึ่งการสุขาภิบาลนั้นจะเป็นการจัดการเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมรอบ ๆ ตัวสัตว์ เช่น ภูมิอากาศ อุณหภูมิ โรงเรือน และอาหาร หากผู้เลี้ยงสัตว์ มีการสุขาภิบาลทุกด้านดีสัตว์ก็จะไม่เกิดโรคและให้ผลตอบแทนได้เต็มที่

2. สาเหตุของการเกิดโรคในสัตว์
                การเกิดโรคในสัตว์เกิดจากหลายสาเหตุ ทั้งสาเหตุทางตรงและสาเหตุทางอ้อม ซึ่งอาจจะเกิดจากตัวสัตว์เอง โรงเรือนและอุปกรณ์ อาหาร น้ำ หรือจากตัวผู้เลี้ยงเอง ซึ่งจะเป็นสาเหตุใดก็ตามล้วนส่งผลต่อสุขภาพของสัตว์ทั้งสิ้น สาเหตุของการเกิดโรคในสัตว์แบ่งได้ดังนี้
                  2.1 สาเหตุทางอ้อม เป็นสาเหตุที่ไม่ได้เกิดจากเชื้อโรคแต่เกิดจากสภาพแวดล้อม รอบ ๆ ตัวสัตว์ซึ่งชักนำให้สัตว์เกิดโรคได้ สาเหตุทางอ้อม ได้แก่
                        2.1.1 ความเครียด เช่น สภาพโรงเรือนไม่เหมาะสม มีแมลงรบกวน อากาศร้อนจัด หนาวจัด ล้วนเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดความเครียดซึ่งก่อให้เกิดโรคในสัตว์ได้
                       2.1.2 การขาดสารอาหาร เช่น ขาดธาตุแคลเซียมทำให้เกิดโรคกระดูกอ่อน ขาดโปรตีนทำให้แคระแกร็น เป็นต้น
                       2.1.3 เกิดจากความผิดปกติของระบบฮอร์โมนในร่างกายสัตว์
                       2.1.4 เกิดจากความบกพร่องทางพันธุกรรม
                       2.1.5 สารพิษในอาหารสัตว์ เช่น กรดไฮโดรไซยานิก (hydrocyanic acid) ในมันสำปะหลัง
                2.2 สาเหตุทางตรง ได้แก่ การเกิดโรคที่เกิดจากเชื้อจุลินทรีย์ต่าง ๆ เช่น แบคทีเรีย ไวรัส เชื้อรา โปรโตซัว พยาธิภายนอก และพยาธิภายใน

3. ประเภทของโรคสัตว์
                โรคสัตว์แบ่งออกได้หลายประเภทตามสาเหตุที่ก่อให้เกิดโรค การติดต่อของโรคและตามระดับความรุนแรงของโรค ซึ่งประเภทของโรคสัตว์แบ่งออกได้ดังนี้
               3.1 แบ่งตามสาเหตุที่ก่อให้เกิดโรค แบ่งได้ดังนี้
                       3.1.1 โรคติดเชื้อ (infections disease) ได้แก่ โรคที่เกิดจากเชื้อจุลินทรีย์ต่าง ๆ เช่น แบคทีเรีย ไวรัส โปรโตซัว รา ริกเก็ตเซีย และพยาธิ
                       3.1.2 โรคไม่ติดเชื้อ (non – infections disease) เป็นโรคที่เกิดจากสาเหตุอื่นนอกจากเชื้อจุลินทรีย์และพยาธิ
              3.2 แบ่งตามการติดต่อของโรค แบ่งได้ดังนี้
                       3.2.1 โรคติดต่อ (contagious disease) เป็นโรคที่เกิดกับสัตว์ตัวหนึ่งตัวใดแล้วสามารถที่จะแพร่ระบาดไปยังสัตว์ตัวอื่นได้ ส่วนใหญ่จะเป็นโรคที่เกิดจากเชื้อจุลินทรีย์และพยาธิ
                      3.2.2 โรคไม่ติดต่อ (non – contagious disease) เป็นโรคที่เกิดกับสัตว์ตัวหนึ่งตัวใดแล้วไม่ติดต่อไปยังสัตว์ตัวอื่น ส่วนมากเกิดจากสภาพแวดล้อมและอาหาร
                3.3 แบ่งตามระดับความรุนแรงของโรค แบ่งออกได้ดังนี้
                    3.3.1 การเกิดโรคชนิดเฉียบพลัน (peracute) สัตว์จะแสดงอาการป่วยอย่างรวดเร็วและจะตายภายใน 24 – 48 ชั่วโมง เช่น โรคคอบวมในโค กระบือ เป็นต้น
                   3.3.2 ชนิดรุนแรง (acute) สัตว์จะแสดงอาการรุนแรงอยู่หลายวัน พบอัตราการตาย (mortality) ค่อนข้างสูง เช่น โรคนิวคาสเซิลในสัตว์ปีก โรคไข้หวัดนก และโรคอหิวาต์สุกร เป็นต้น
                    3.3.3 ชนิดไม่รุนแรง (subacute) สัตว์จะแสดงอาการป่วยเป็นสัปดาห์หรือหลายสัปดาห์ เช่น โรคปากและเท้าเปื่อยในสัตว์กีบ เป็นต้น
                   3.3.4 ชนิดเรื้อรัง (chronic) สัตว์จะแสดงอาการป่วยหลายวันหรือเป็นเดือน เช่น วัณโรคโค โรคพยาธิไส้เดือน เป็นต้น
               3.4 แบ่งตามระบบกายวิภาคของสัตว์ แบ่งได้ดังนี้
                     3.4.1 โรคของระบบทางเดินหายใจ (disease of respiratory tract)
                     3.4.2 โรคของระบบย่อยอาหาร (disease of digestive system)
                     3.4.3 โรคของระบบประสาท (disease of nervous system)
                     3.4.4 โรคของระบบขับถ่ายและระบบสืบพันธุ์ (disease of urogenital system)
                     3.4.5 โรคของระบบผิวหนัง (disease of integument system)

4. วิธีการติดต่อของโรคสัตว์
                   การติดต่อโรคในสัตว์ติดต่อกันได้หลายทาง ทั้งทางน้ำ อากาศ อาหาร วัสดุอุปกรณ์ การสัมผัส หรือจากแม่สู่ลูก เป็นไปได้หลายช่องทาง ดังนั้นผู้เลี้ยงสัตว์จึงต้องหาวิธีการป้องกันไม่ให้สัตว์ติดโรค ซึ่งเกรียงศักดิ์ พูนสุข (2536) กล่าวว่า วิธีการติดต่อของโรคสัตว์มีหลายกรณีดังนี้
              4.1 การติดเชื้อทางอากาศ (air borne) ส่วนใหญ่เป็นโรคที่เกิดกับระบบหายใจ
              4.2 การติดต่อจากน้ำและอาหาร (water and feed) น้ำและอาหารจะเป็นตัวแพร่เชื้อได้ดี
              4.3 การติดต่อทางวัสดุรองพื้นและอุจจาระ (litter and dropping)
              4.4 การติดต่อโดยการสัมผัส (contact) การสัมผัสกันอย่างใกล้ชิดของสัตว์ก่อให้เกิดการติดโรคได้อย่างดี
              4.5 การติดต่อโดยสัตว์พาหะ (vector) เช่น หนู ยุง แมลงสาบ เป็นต้น
              4.6 การติดต่อผ่านทางไข่ (egg transmission) โดยผ่านจากตัวแม่สู่ลูกโดยผ่านทางไข่ เช่น โรคขี้ขาวในไก่ เป็นต้น
              4.7 การติดต่อโดยทางกล (mechanical means) เช่น รองเท้า เสื้อผ้า อุปกรณ์ต่าง ๆ

5. ปัจจัยที่มีผลต่อการเกิดโรคในสัตว์
                  การเกิดโรคในสัตว์มีปัจจัยเกี่ยวข้องหลายประการ การที่สัตว์จะเกิดโรคหรือไม่นั้นนอกจากปัจจัยต่าง ๆ ทั้งด้านการสุขาภิบาล สิ่งแวดล้อมรอบ ๆ ตัวสัตว์ ชนิดของเชื้อ และปริมาณเชื้อที่สัตว์ได้รับย่อมส่งผลต่อการเกิดโรคระบาดได้ทั้งสิ้น ปัจจัยที่มีผลต่อการเกิดโรคในสัตว์มีดังนี้
                5.1 ชนิดและคุณสมบัติของตัวเชื้อโรค เชื้อโรคบางชนิดมีความรุนแรงน้อยบางชนิด มีความรุนแรงมากและถึงแม้จะเป็นเชื้อชนิดเดียวกัน ถ้าสภาวะแตกต่างกันความรุนแรงของโรค ก็อาจแตกต่างกันได้
                5.2 ปริมาณของเชื้อที่สัตว์ได้รับเข้าไป ถ้าสัตว์ได้รับเชื้อในปริมาณที่มากหรือได้รับเชื้ออยู่ตลอดเวลาโอกาสที่จะเกิดโรคก็มากขึ้นด้วย
                5.3 วิถีทางที่เชื้อเข้าสู่ร่างกาย เชื้อโรคบางชนิดมีความเหมาะสมในการก่อให้เกิดโรคได้ดี ถ้าเชื้อนั้นเข้าร่างกายโดยวิธีทางจำเพาะของมันแต่ถ้าเข้าไม่ถูกทางโรคอาจจะไม่เกิดขึ้น
               5.4 ภูมิคุ้มกันของร่างกายสัตว์เอง ถ้าสัตว์มีระบบภูมิคุ้มกันตอบสนองต่อเชื้อโรคได้ดี โอกาสเกิดโรคก็ลดลง
               5.5 การจัดการด้านสุขาภิบาลที่ดี เช่น การทำความสะอาด พ่นยาฆ่าเชื้อเป็นประจำ ดูแลสภาพแวดล้อมในโรงเรือนให้เหมาะสม ไม่ร้อน อบอ้าวเกินไป หลีกเลี่ยงการทำให้สัตว์เครียด ฯลฯ สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้โอกาสเกิดโรคน้อยลง หรือถ้าเกิดโรคขึ้น อาการจะไม่รุนแรงนัก และสามารถควบคุมความรุนแรงและการระบาดได้ง่าย (ดำรง กิตติชัยศรี, 2542)

6. หลักในการป้องกันการเกิดโรคในสัตว์
              มีวิธีการปฏิบัติหลายประการที่สามารถป้องกันไม่ให้สัตว์ป่วยเป็นโรคได้ ซึ่งผู้เลี้ยงสัตว์เป็นบุคคลแรกที่จะทำให้สัตว์ไม่เกิดโรคได้ ทั้งนี้เพราะคนเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญ ถ้าหากเรามีการจัดการกับสัตว์ที่ดี ดูแลทั้งด้าน น้ำ อาหาร วัสดุอุปกรณ์ รวมทั้งจัดสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสมกับสัตว์แล้วสัตว์ก็จะไม่เกิดโรค การป้องกันการเกิดโรคในสัตว์ทำได้ดังนี้
            6.1 ป้องกันไม่ให้มีการสัมผัสระหว่างสัตว์ป่วยกับสัตว์ดี ผู้เลี้ยงสัตว์สามารถปฏิบัติได้ดังนี้
                  6.1.1 ควบคุมและเข้มงวดในการนำสัตว์หรือส่วนอื่น ๆ ของสัตว์จากต่างประเทศเข้ามาในประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่มีโรคระบาด รวมทั้งอาหารสัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ด้วย
                  6.1.2 ควบคุมและเข้มงวดการเคลื่อนย้ายสัตว์หรือชิ้นส่วนของสัตว์ภายในประเทศ ต้องมีการกักกันสัตว์
                  6.1.3 ทำลายสัตว์ป่วยหรือสงสัยว่าป่วยให้หมด
                  6.1.4 กำจัดพาหะของโรค
                  6.1.5 ทำการฆ่าเชื้อโรควัตถุหรือสิ่งของที่ติดเชื้อ ได้แก่
                                      6.1.5.1 กวาด ถู เช็ด ล้าง วัตถุสิ่งของที่ติดเชื้อ
                                      6.1.5.2 ทำลายเชื้อโรคโดยการพ่นยาฆ่าเชื้อ
                  6.1.6 มีการป้องกันโดยการจัดการเกี่ยวกับโรงเรือน ใช้ระบบมาตรฐานฟาร์มบังคับใช้กับทุกฟาร์ม
            6.2 การสร้างภูมิคุ้มกันโรคหรือสร้างความต้านทานโรคให้กับสัตว์โดยการทำวัคซีน (vaccine) ให้กับสัตว์ตามชนิดและวันที่กำหนดโดยเคร่งครัด
           6.3 การรักษาสัตว์ที่ป่วย โดยการแยกสัตว์ป่วยออกขังต่างหากเพื่อป้องกันไม่ให้ สัตว์ป่วยเป็นตัวแพร่เชื้อไปสู่ปกติ

7. ลักษณะที่บ่งชี้ว่าสัตว์ป่วย
           สัตว์ที่ป่วยจะแสดงอาการ (symptom) ต่าง ๆ ออกมาให้เราเห็นซึ่งอาจจะแสดงออกทางระบบหายใจ ระบบย่อยอาหาร ระบบขับถ่าย ระบบประสาท และความผิดปกติทางผิวหนัง แต่ส่วนใหญ่จะมีอาการเบื้องต้นคล้ายคลึงกัน คือ มีไข้ หงอย ซึม เบื่ออาหาร แต่ลักษณะปลีกย่อยของอาการที่แสดงออกเมื่อสัตว์เป็นโรคแต่ละชนิดนั้นจะแตกต่างกันออกไป ซึ่งลักษณะที่บ่งชี้ว่าสัตว์ป่วยแบ่งออกได้ดังนี้
          7.1 อาการผิดปกติเกี่ยวกับระบบหายใจ มีดังต่อไปนี้
                 7.1.1 หายใจขัดหรือหายใจไม่เต็มที่
                 7.1.2 หายใจมีเสียงดัง
                 7.1.3 มีน้ำมูลไหลออกทางจมูก
                 7.1.4 เยื่อจมูกอักเสบ
                 7.1.5 หายใจโดยใช้ช่องท้อง หรือหายใจเฉพาะที่หน้าอก

                 7.1.6 ไอ และจาม
         7.2 อาการผิดปกติเกี่ยวกับระบบย่อยอาหาร มีดังต่อไปนี้
                7.2.1 เบื่ออาหาร ไม่ยอมกินหญ้าและอาหาร
               7.2.2 กินอาหารมากกว่าปกติแต่ไม่อ้วน อาจเกิดจากพยาธิ
               7.2.3 กินสิ่งอื่นที่ไม่ใช่อาหาร
               7.2.4 มีน้ำลายไหล
               7.2.5 ปากเหม็น ปากแห้งผาก
               7.2.6 ปวดท้อง ท้องร่วง หรือบางครั้งอาจท้องผูก
               7.2.7 สัตว์บางตัวอาจจะมีการอาเจียน
         7.3 อาการผิดปกติเกี่ยวกับระบบขับถ่าย มีดังต่อไปนี้

7.3.1 ปัสสาวะขุ่นมีสีเหลืองเข้ม

7.3.2 ปัสสาวะไม่ออก หรือกระปริบกระปรอย หรือปัสสาวะไหลไม่หยุด

7.3.3 เดินขาแข็ง นอนไม่ลง
         7.4 อาการผิดปกติเกี่ยวกับระบบประสาท มีดังต่อไปนี้
               7.4.1 กระวนกระวาย ตัวสั่น ตื่นเต้น บ้าคลั่ง

7.4.2 เดินเป็นวงกลม หรือเดินถอยหลัง

7.4.3 ลุกยืนและนอนลำบาก ชักกระตุก

7.4.4 น้ำลายไหล ตาพองโต ปากสั่น

7.4.5 อาการขาแข้งแข็งทื่อ หรืออาจลุกเดินไม่ได้         
       7.5 อาการผิดปกติทางผิวหนัง มีดังต่อไปนี้

7.5.1 เหงื่อออก อุณหภูมิร่างกายต่ำกว่าปกติ

7.5.2 ขนร่วงและขาดรุ่งริ่ง ผิวหนังตกสะเก็ด

7.5.3 ผิวหนังหยาบแห้ง ขนลุกชัน

7.5.4 มีไข้สูง อุณหภูมิของร่างกายผิดไปจากปกติ

7.5.5 น้ำเหลืองคั่งที่ปลายเท้าและโคนขา

7.5.6 ท้อง หน้าอก หนังหุ้มปลายอวัยวะเพศ เหนียง หัวนมเพศเมียเกิดอาการบวม

       7.6 ชีพจรเต้นผิดไปจากสภาพปกติ
                     

8. การระบาดของโรค
                    ในปัจจุบันยังมีโรคที่เกิดกับสัตว์อีกหลายโรคที่เมื่อเกิดขึ้นแล้วจะเกิดการระบาด ทำให้โรคแพร่กระจายไปตามภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศ ทั้งรัฐบาลและเอกชนผู้ดำเนินกิจการเกี่ยวกับการเลี้ยงสัตว์ก็ได้เฝ้าระวัง หาวิธีป้องกันการระบาดของโรคสัตว์ เพื่อให้ทราบสาเหตุของการเกิดโรค ปัจจัยที่มีผลต่อการแพร่กระจายของโรค โดยการเฝ้าระวังและสังเกตการณ์เพื่อหาวิธียับยั้งการระบาดของโรคสัตว์ ข้อควรปฏิบัติเมื่อเกิดการระบาดของโรคกระทำได้ดังนี้
           8.1 ถ้ามีสัตว์ป่วยหรือตายเฉียบพลันโดยไม่ทราบสาเหตุหรือบริเวณหมู่บ้านใกล้เคียงกัน หมู่บ้านเดียวกันมีสัตว์ป่วยหรือตายตั้งแต่สองตัวขึ้นไปในระยะเวลาห่างกันไม่เกิน 7 วัน ให้เจ้าของแจ้งต่อเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์หรือสัตวแพทย์ ภายใน 24 ชั่วโมง นับจากสัตว์ป่วยหรือตาย
          8.2 ห้ามเคลื่อนย้ายสัตว์ป่วย ห้ามชำแหละ หรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดกับ ซากสัตว์ป่วย
          8.3 ถ้าเกิน 48 ชั่วโมงหลังแจ้งเจ้าหน้าที่แล้ว ให้ทำการฝังซากลึกอย่างน้อย 50 เซนติเมตร โรยทับด้วยปูนขาวและพูนดินสูง 50 เซนติเมตร เพื่อป้องกันสัตว์มาคุ้ยเขี่ย
          8.4 สัตวแพทย์มีอำนาจในการออกคำสั่ง กักขัง แยกหรือย้ายสัตว์ป่วย ให้ฝัง หรือเผาทำลายซาก และทำการฆ่าเชื้อบริเวณรอบ ๆ ได้
          8.5 เจ้าของสัตว์สามารถรับค่าชดใช้ในการทำลายซากได้ตามที่กฎกระทรวงกำหนดไม่ต่ำกว่ากึ่งหนึ่งของราคาสัตว์

 แสดงประเภทผลพลอยได้ทางการเกษตรที่เป็นประโยชน์แก่สัตว์





ที่มา  www.kasetonline.net