วันพุธที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2559

บทเรียนที่ 7 กระบวนการผลิตสัตว์ เรื่อง สัตว์ปีก



บทเรียนที่ 7 กระบวนการผลิตสัตว์  เรื่อง สัตว์ปีก
เรื่อง   สัตว์ปีก




การเลี้ยงสัตว์ปีกที่เป็นสัตว์เศรษฐกิจ
การเลี้ยงไก่พื้นเมือง

            ไก่ก็เหมือนกับสัตว์ชนิดอื่นๆ ที่ต้องการน้ำสะอาด  อาหารดี  อากาศบริสุทธิ์  สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม  การสุขาภิบาล  และการป้องกันโรคที่ถูกต้อง  ดังนั้นผู้เลี้ยงควรพิจารณาปัจจัยต่างๆ ที่มีผลต่อการให้ผลผลิตดังนี้

              1.  โรงเรือนและอุปกรณ์ที่ใช้เลี้ยงเหมาะสม

              2.  ใช้อาหารทีมีคุณภาพดี

             3.   มีการสุขาภิบาลที่ดี และมีการทำวัคซีนอย่างถูกต้อง

             4.   มีการเอาใจใส่อย่างดี

               ปัจจุบันไก่พื้นเมืองมีหลากหลายสายพันธุ์ เช่น ไก่แจ้ ไก่อู ไก่ตะเภา ไก่เบตง และไก่ชน ส่วนใหญ่และไก่พื้นเมืองจะเป็นสายพันธุ์ไก่ชนสังเกตได้จากแม่ไก่จะมีขนดำหน้าดำ และแข้งดำ หงอนหิน แต่จะมีแม่พันธุ์บางส่วนที่มีสีเทา สีทอง แต่หงอนก็ยังเป็นหงอนหิน ซึ่งเป็นลักษณะหงอนของไก่ชน เหตุที่เกษตรกรนิยมเลี้ยงไก่พื้นเมือง   พันธุ์ไก่ชน เพราะว่าไก่ชนมีรูปร่างใหญ่และยาว เจริญเติบโตดี และแม่พันธุ์ก็ไข่ดก เนื่องจากนักผสมพันธุ์ไก่ชนได้คัดเลือกลักษณะดีเด่นไว้อย่างต่อเนื่องนับร้อยปีมาแล้ว   เกษตรกร เพื่อนบ้านจะขอซื้อขอยืมหรือขอไปขยายพันธุ์มากกว่าไก่พันธุ์อื่นๆ

               กรมปศุสัตว์ได้ทำการวิจัยผสมพันธุ์คัดพันธุ์ไก่พื้นเมืองมาตั้งแต่ ปีพ.ศ.2532 โดยเริ่มจาก
สายพันธุ์ไก่ชน จาก 17 จังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แต่การปรับปรุงพันธุ์ไม่ได้เน้นในด้านการชนเก่ง แต่เน้นในด้านการเจริญเติบโต และไข่ดก เพื่อให้สามารถ  ขยายพันธุ์ได้รวดเร็ว สำหรับไก่ชนไทยแท้สีขนแยกได้หลากหลาย ถึง 17 สีขน เช่น เหลืองหางขาว ประดู่หางดำ เหลืองเลา ประดู่เลา แสมดำ เป็นต้น


สายพันธุ์เหลืองหางขาว

          เป็นสายพันธุ์ไก่ชน มีลักษณะ เด่นๆ คือ
          -  ปากสีขาวอมเหลือง หรือสีงาช้าง ปากสั้น อวบใหญ่คล้ายปากนกแก้ว และมีร่องน้ำชัดเจน กลางปากนูนเป็นสันข้างๆ เป็นร่องน้ำ
          -  ตาเป็นตาเหยี่ยว หัวตาแหลม ตาดำคว่ำ ตาดำเล็กและรี รอบๆ ตาตำสีขาวอมเหลือง
          -  หงอนหิน ด้านบนของหงอนบางเรียบ ปลายหงอนยาวเลยตา โคนหงอนโค้งติดกับศีรษะ
          -  ตุ้มหูสีแดงเดียวกับหงอนเล็ก ไม่หย่อนยานรัดกับใบหน้า เหนียงเล็กรัดติดคาง
          -   รูปใบหน้าแหลมยาว มีเนื้อแน่น ผิวหน้าเรียบเป็นมันกะโหลกศีรษะหนายาว
          -  ลักษณะลำตัวอกแน่น กลม มีเนื้อเต็ม กระดูกอกยาวตรง หลังเป็นแผ่นกว้างมีกล้ามเนื้อมาก
          -  หลังเรียบตรงไม่โค้งนูน ไหล่กว้างยกตั้งตรง คอใหญ่ กระดูกคอถี่ ปั้นขาใหญ่ กล้ามเนื้อมาก เนื้อแน่น แข็งแรง ผิวหนังขาวอมเหลือง ขาวอมแดง

         -  สีขนลำตัวดำมีขาวแซมบ้างที่หัว หัวปีก ข้อขา สร้อยคอเหลืองชัดเจน ยาวประบ่า
          -  สร้อยหลังเป็นสีเดียวกับสร้อยคอเรียงกันเต็มแผ่นหลัง เริ่มจากโคนคอถึงโคนหาง เส้นขนละเอียดยาวเป็นระย้า สร้อยปีกสีเดียวกับสร้อยคอเรียงกันแน่นเต็มบริเวณหัวปีกถึงปีกชัย        

           -  ขนหางมีสีขาวพุ่มออกยาว เห็นเด่นชัดยิ่งขาวและยาวมากยิ่งดี ขนหางควรพุ่งตรงและยาว ปลายโค้งตกลงเล็กน้อย
          -  ขาแข้งมีเดือยขาวอมเหลืองสีเดียวกับปาก เกล็ดแข็งแน่นหนาเรียบ เดือยใหญ่แข็งแรง นิ้วยาว เล็บสีขาวอมเหลือง ไม่มีสีดำปน
          -  เพศเมียลำตัวสีดำ ปาก แข้ง หงอน และใบหน้าสีเดียวกับไก่เพศผู้

สายพันธุ์ประดู่หางดำ
         -  เป็นสายพันธุ์ไก่ชน มีปากสีดำ อูมใหญ่ โดยปากจะคล้ายปากนกแก้ว

ปากบนมีร่องน้ำทั้งสองข้าง ระหว่างร่องน้ำจะเป็นสันราง
         -  ตาสีประดู่ หรือแดงอมม่วง หรือตาออกสีดำ หรือสีแดง
         -  หงอนหินไม่มีจักเลย
         -  สร้อยคอสีประดู่ยาวประบ่า ปีกใหญ่ยาว สร้อยปีกสีเดียวกับสร้อยคอ สร้อยหลังสีประดู่ยาวระย้าประก้น
         -  ขนลำตัวขนปีกและหางสีดำ กะลวยหางดำ โคนขาใหญ่
         -  หน้าอกกว้าง และยาวเนื้อเต็มแน่น
         -  ขาแข้ง เล็บและเดีอยสีดำ
         -  เพศเมียสีเดียวกับเพศผู้แต่ไม่มีสร้อยคอ

 สายพันธุ์เขียวกาหรือเขียวหางดำ 


         -  ลักษณะทั่วไปคล้ายๆ กับประดู่หางดำ ปากดำ
         -  หงอนหิน หน้าหงอนบางกลางหงอนสูง ท้ายหงอนจะตกกดกระหม่อม
         -  สร้อยคอหลังและสร้อยหางสีเขียว
         -  ขนปีกและลำตัวเขียว หางดำ
         -  แข้งดำ เล็บดำ



ในการเลี้ยงไก่พื้นเมืองเพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดีนั้น จะต้องมีการจัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์ในการเลี้ยง ดังนี้

            โรงเรือนหรือเล้าไก่ ต้องมีหลังคากันแดดฝนได้ ซึ่งสามารถทำได้ง่าย โดยใช้วัสดุที่มีอยู่ในท้องถิ่น เช่น ไม้ไผ่ แฝก ฯลฯ พื้นคอกปูด้วยแกลบหรือขี้เลื้อยหรือพื้นแห้ง ความหนาอย่างน้อย 4 เซนติเมตร และเปลี่ยนทุกๆ 3 เดือน

            รางอาหาร ขนาดราง 20 เซนติเมตร / ไก่เล็ก 20 ตัว ขนาดราง 50 เซนติเมตร / ไก่รุ่น 10 ตัว และขนาดราง 1 เมตร / ไก่ใหญ่ 10 ตัว

            รางน้ำ สามารถใช้วัสดุในท้องถิ่น เช่น ไม้ไผ่ผ่าครึ่งและอื่นๆ

            รังไข่ ขนาดกว้างและยาว 1 ฟุต สูง 8 นิ้ว หรือใช้เข่งรองด้วยหญ้าหรือฟางแห้งก็ได้

            ม่านกันฝน ด้านที่ฝนสาดหรือแดดส่องมากๆควรมีผ้าใบหรือกระสอบหรือเสื้อเก่าๆห้อยไว้โดยเฉพาะที่มุมรังไข่ คอนนอน ควรพาดไว้ที่มุมใดมุมหนึ่ง

การให้อาหารไก่พื้นเมือง

             นอกจากเราจะปล่อยให้ไก่หาอาหารเองตามธรรมชาติแล้ว ควรมีอาหารผสมให้ไก่กินโดยเฉพาะในระยะแรกควรให้อาหารไก่เล็ก เพื่อให้ลูกไก่แข็งแรงและเจริญเติบโตเร็ว หลังจากไก่อายุ 1 - 2 เดือน ควรให้อาหารผสมเพิ่มเติมทุกเช้าเย็น เช่น ปลายข้าว ข้าวโพด เศษผัก หญ้าสด ใบกระถิน หัวอาหารสำเร็จรูป เป็นต้น

               เมื่อไก่อายุประมาณ 16 - 18 อาทิตย์ จะมีน้ำหนักประมาณ 1.5 -2.0 กิโลกรัม สามารถขายเป็นไก่เนื้อได้ในระยะนี้ แต่ถ้าจะเก็บไว้เป็นแม่พันธุ์เพื่อกินไข่หรือผลิตลูกจะต้องเลี้ยงต่อไปอีก ซึ่งปกติแล้วแม่ไก่พื้นเมืองจะเริ่มให้ไข่

            เมื่ออายุประมาณ 6 - 8 เดือน เฉลี่ยจะได้ไข่ประมาณปีละ 4 ชุด ชุดละประมาณ 10 - 12 ฟอง เมื่อไข่หมดชุดแล้วแม่ไก่จะเริ่มฟักไข่ ซึ่งต้องใช้เวลาประมาณ 21 วัน จึงฟักออกเป็นตัว เมื่อลูกไก่ฟักออกเป็นตัวหมดแล้วควรเอาฟางที่รองรังไข่และเปลือกไข่เผาทิ้ง และทำความสะอาดรังไข่ด้วยทุกๆครั้ง

            ถ้าต้องการเก็บไข่ไว้บริโภคและไม่ให้แม่ไก่ฟักและจะต้องเก็บไข่ใบเก่าออกทุกๆวันโดยให้เหลืออยู่ในรังไข่ใบเดียว และเมื่อสังเกตเห็นแม่ไก่จะเริ่มฟักต้องแยกแม่ไก่มาขังไว้เลี้ยงต่างหากให้อาหารที่มีโปรตีน เช่น ปลาป่นกับรำ และปลายข้าว หรืออาหารไก่ไข่ แล้วเอาตัวผู้รุ่นหนุ่มมาใส่ให้อยู่ด้วยกันประมาณ 4 -5 วัน แม่ไก่จะเริ่มไข่อีก

การป้องกันโรค

โรคที่สำคัญได้แก่ โรคนิวคาสเซิล โรคหลอดลมอักเสบ โรคอหิวาต์ โรคฝีดาษ และโรคพยาธิต่างๆ

วิธีป้องกันและควบคุมโรคที่ดี

คือ ทำความสะอาดโรงเรือนอย่างสม่ำเสมอและฉีดวัคซีนป้องกันโรคตามปฏิทินที่กำหนด

ตารางการให้วัคซีนป้องกันโรคระบาดของไก่

ชนิดของวัคซีน
อายุไก่
วิธีใช้
ขนาดวัคซีน
ระยะคุ้มโรค
นิวคาสเซิล (ชนิดหยอดจมูก)
1 - 7 วัน
หยอดจมูก
1 - 2 หยด
ควรทำครั้งที่ 2 เมื่อ
ไก่อายุ 21 วัน
นิวคาสเซิล
21 วัน
หยอดจมูก
1 - 2 หยด
ควรทำวัคซีนนิวคาสเซิลชนิดแทงปีกอีกครั้งเมื่อไก่อายุ 3 เดือน
นิวคาสเซิล( ชนิดแทงปีก )
3 เดือน
ใช้เข็มคู่แทงปีก
1 ครั้ง
6 เดือน
ฝีดาษไก่
7 วัน
ใช้เข็มคู่แทงปีก
1 ครั้ง
1 ปี
อหิวาต์ไก่
ตั้งแต่ 1 เดือน
ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ
1 ซีซี
3 เดือน ฉีดซ้ำทุก 3 เดือน
หลอดลมอักแสบ
14 วัน
หยอดจมูก
1 - 2 หยด
3 เดือนทำซ้ำทุก 3 เดือนห้ามใช้วัคซีนนี้พร้อมกับวัคซีนนิวคาสเซิลควรใช้วัคซีนชนิดนี้ห่างกันไม่น้อยกว่า1 อาทิตย์



โรคระบาดที่เกิดกับสัตว์ปีก

โรคนิวคาสเซิล (Newcastle disease) 

                    เป็นโรคทางระบบหายใจ ที่เกิดขึ้นกับสัตว์ปีกทุกชนิด แต่ความรุนแรงของโรคต่างกัน โดยเฉพาะไก่จะเป็นโรคนี้ได้ง่ายกว่า พบว่าพวกเป็ด และห่านมีความทนทานต่อโรคนี้เป็นพิเศษ

สาเหตุ

            โรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัส ซึ่งมีอยู่หลายชนิด ทำให้เกิดโรคได้รุนแรงมากน้อยต่างกัน คือ

           1.ชนิดรุนแรง ทำให้ไก่เกิดโรคแบบเฉียบพลัน การระบาดรวดเร็ว รุนแรง ทำให้ไก่ตายเป็น เปอร์เซ็นต์สูง และเป็นได้กับไก่ทุกอายุ

           2.ชนิดรุนแรงปานกลาง ชนิดนี้จะทำให้ไก่อายุน้อยเป็นโรครุนแรงกว่าไก่ใหญ่ กลุ่มอาการจะแสดงออกทั้งที่ระบบหายใจและ ระบบประสาท

          3.ชนิดไม่รุนแรง ไม่ทำให้ไก่แสดงอาการเป็นโรคเด่นชัด บางรายเพียงแสดงอาการเป็นหวัดเล็กน้อย

การติดต่อ

             จะติดต่อจากสัตว์ที่เป็นตัวอมโรค เช่นนกพิราบ นกกระจอก และนกชนิดอื่น ๆ เป็นตัวนำเชื้อ มาแพร่ได้ในฟาร์ม จากสิ่งของภาชนะเครื่องใช้ ควันรถยนต์ที่เข้าฟาร์ม จากไข่ โดยไข่ที่แตกระหว่างขนส่ง ไข่ที่แตกในตู้ฟัก ไวรัสปนเปื้อนกับเปลือกไข่ และจากการสัมผัสโดยตรงด้วยกลุ่มไก่ที่เป็นโรคจากเสมหะ โดยการไอหรือจาม

อาการ

อาการที่พบในลูกไก่จะพบว่า หายใจลำบาก อ้าปากหายใจ ไอ จาม หายใจมีเสียงดัง ถ้าโรครุนแรง จะพบอาการทางประสาท หัวสั่น อัมพาต ปีกตก และตาย ซึ่งมีอัตราการตายสูงมาก อาจถึง 100 % ในไก่ไข่ และพ่อแม่พันธุ์ จะแสดงอาการ ทางระบบหายใจ ซึม เบื่ออาหาร ส่วนใหญ่ไม่พบอาการทางประสาท อัตราการไข่จะลดลงทันที ไข่จะมีรูปร่างผิดปกติ อัตราการตายประมาณ 10 - 15 %

การรักษา

ยังไม่มียารักษาโรคโดยเฉพาะ อาจใช้ยาช่วยในการบรรเทาโรค โดยให้ไวตามิน และอีเลคโตรไลท์ ละลายน้ำให้กิน ช่วยให้ไก่แข็งแรงและฟื้นโรคได้รวดเร็ว โดยทำไปเมื่อทราบมีการระบาดเกิดขึ้นในฝูง วิธีที่ให้ผลดี คือ การทำวัคซีน เพื่อ เร่งการสร้างภูมิคุ้มกันโรค



โรคหลอดลมอักเสบ
              โรคหลอดลมอักเสบ ถ้าไก่พื้นเมืองเป็นโรคนี้แล้ว ไก่พื้นเมืองจะมีอาการทางระบบหายใจ หายใจไม่สะดวก อ้าปากหายใจ หายใจเสียงดังน้ำมูกไหล ตาแฉะ         

                   การป้องกัน ทำวัคซีนหลอดลมอักเสบโดยหยอดจมูกหรือตา 1-2 หยดในลูกไก่พื้นเมืองเมื่อมีอายุ 14 วัน และทำวัคซีนหลอดลมอักเสบซ้ำอีกเมื่อลูกไก่พื้นเมืองมีอายุ 28 วัน สามารถป้องกันโรคได้ 3 เดือน
ข้อควรระวัง ห้ามใช้วัคซีนป้องกันโรคหลอดลมอักเสบ พร้อมกับวัคซีนป้องกันโรคนิวคาสเซิล ควรใช้วัคซีนชนิดนี้ห่างกันไม่น้อยกว่า 1 อาทิตย์



โรคฝีดาษ
              โรคฝีดาษ ถ้าไก่พื้นเมืองเป็นโรคนี้แล้ว ไก่พื้นเมืองจะมีเม็ดขึ้นตามใบหน้าหรือหงอน บางครั้งพบเม็ดสีเหลืองในบริเวณปากและลิ้น ไก่พื้นเมืองจะเจ็บปากและลิ้น กินอาหารไม่ได้ ถ้าเกิดมีโรคแทรกก็จะตายไปในที่สุด
วิธีป้องกัน ทำวัคซีนฝีดาษไก่โดยการแทงผนังปีก

1-2 ครั้ง กับลูกไก่พื้นเมืองที่มีอายุ 7 วัน สามารถป้องกันโรคได้ 1 ปี

โรคอหิวาต์
              โรคอหิวาต์ จะพบมากในไก่พื้นเมืองที่มีอายุเกิน 2 เดือนขึ้นไปถ้าเป็นขั้นรุนแรง ไก่พื้นเมืองจะตายโดยไม่ทราบสาเหตุ ถ้าเป็นชนิดธรรมดา ไก่พื้นเมืองจะแสดงอาการตัวร้อนจัด หายใจไม่สะดวก หงอนเหนียงเปลี่ยนเป็น สีดำคล้ำ
 การป้องกัน ทำวัคซีนอหิวาต์ไก่พื้นเมืองโดยฉีดเข้ากล้ามเนื้อ 1 ซี.ซี. กับไก่พื้นเมืองที่มีอายุ 2 เดือน
การรักษา ช่วยได้โดยการใช้ยาปฏิชีวนะหรือซัลฟาคิวน็อกซาลีนละลายน้ำให้กิน

โรคพยาธิไก่พื้นเมืองที่สำคัญและวิธีป้องกันรักษา

พยาธิภายนอกไก่
                พยาธิภายนอกไก่มีหลายชนิด เช่น ไร เหา และหมัด ถ้าไก่พื้นเมืองเป็นโรคนี้แล้ว พยาธิเหล่านี้จะคอยรบกวนไก่พื้นเมืองตลอดเวลาทำให้ผลผลิตลดลง โดยเฉพาะไก่พื้นเมืองตัวเมียจะทำให้ไข่ลดลง ฉะนั้นจึงควรกำจัดโรคนี้เสีย โดยมีวิธีการควบคุมและกำจัด ดังนี้
              1. ก่อนนำไก่พื้นเมืองเข้าขังในโรงเรือน ควรทำความสะอาดอุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น รางอาหาร รางน้ำ โรงเรือนเลี้ยงไก่พื้นเมือง โดยการพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโรค เช่น มาลาไธออนและโรทิโนน
              2. ควรใช้วัสดุปูฟื้นโรงเรือน เช่น แกลบที่ใหม่และไม่ชื้น เพราะบริเวณพื้นโรงเรือนมักจะมีไรไก่พื้นเมืองอาศัยอยู่มาก
              3. ในขณะที่เลี้ยงไก่พื้นเมือง เมื่อพบว่ามีไร เหา และหมัดเกิดขึ้นกับไก่พื้นเมือง ควรรีบกำจัดทันทีโดยใช้ยาตามคำแนะนำที่ฉลากยา
               4. ใช้สมุนไพร เช่น โล่ติ๊น หรือยาฉุนละลายน้ำ นำไก่พื้นเมืองมาจุ่มฆ่าพยาธิก็ได้

พยาธิภายใน
               พยาธิภายในไก่มีหลายชนิด เช่น พยาธิตัวแบน พยาธิตัวกลมและพยาธิเส้นด้าย ถ้าไก่พื้นเมืองเป็นโรคนี้แล้ว พยาธิเหล่านี้จะรบกวนไก่พื้นเมือง ทำให้แคระแกร็น เจริญเติบโตช้า และไข่ลด บางครั้งไก่พื้นเมืองอาจตายได้ สามารถกำจัดได้โดยใช้ยาเปปเปอราซีน ไดไฮโดรคลอไรด์ผสมกับอาหารให้ไก่กินทุก 1-2 เดือน



ความปลอดภัยในการทำงาน

ในปัจจุบัน สัตว์ปีกหลายๆชนิด ติดโรคระบาดนั่นคือ โรคไข้หวัดนก ซึ่งเป็นโรคที่ระบาดในสัตว์ปีกมาก และเชื้อก็ยังไม่หมดไป ผู้เลี้ยงสัตว์ปีกควรป้องกันไม่ให้ตัวเองติดเชื้อ เพราะเชื้อโรคนี้ ยังไม่สามารถหายารักษาในคนได้ ผู้เลี้ยงควรปฏิบัติดังนี้

มาตรการการป้องกันการแพร่กระจายของโรค

   โรคไข้หวัดนก ในฟาร์มที่มีโรคระบาด ประกอบด้วย 3 หลักการที่สำคัญ คือ
       1. การป้องกันการกระจายของเชื้อ
       - ไม่ให้มีการนำสัตว์ปีกเข้าไปในสถานที่ซึ่งมีการระบาดของโรคภายหลังจากการกำจัดสัตว์ป่วย ในระยะเวลา 21 วัน
       - กำจัดวัชพืชรอบโรงเรือน และกำจัดสิ่งปูรองตลอดจนอาหารของสัตว์ป่วยนั้น

- มีโปรแกรมควบคุมพาหะของโรค เข่น แมลง สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม หนู และนก เนื่องจากสิ่งต่างๆเหล่านี้จะเป็นตัวนำพาเชื้อโรคจากอุจจาระของสัตว์ป่วยไปยังที่ต่างๆได้
       - ป้องกันการสะสมของแหล่งน้ำภายในฟาร์ม ซึ่งเพิ่มปริมาณของนกที่เคลื่อนย้ายเข้ามา และมีโอกาสเป็นสื่อให้การแพร่กระจายของโรคขยายวงออกไป
       - จำกัดแหล่งอาหารซึ่งเป็นปัจจัยให้นกเคลื่อนย้ายมาอาศัย
       - ให้ความรู้พนักงานและผู้ที่เกี่ยวข้องให้ตระหนักถึงความสำคัญในการป้องกันการแพร่กระจายของโรคไปยังที่ต่างๆ

     2. การควบคุมการเคลื่อนย้าย
       - จัดระบบควบคุมการเข้า-ออกฟาร์มของบุคคลภายนอกและบุคคลภายในฟาร์ม
       - ลดการเคลื่อนย้ายระหว่างภายในฟาร์มและภายนอกฟาร์ม โดยใช้ระบบสื่อสารทางโทรศัพท์และโทรสาร
       - ให้ใช้มาตรการทำลายเชื้อโรคคนที่เข้า-ออกฟาร์ม
       - ไม่อนุญาตให้พนักงานขับรถยนต์ พนักงานขนส่งเข้า-ออกฟาร์มโดยที่ไม่ได้ผ่านการฆ่าเชื้อ
       3. การรักษาสุขอนามัย
       - ใช้ยาฆ่าเชื้อทำลายเชื้อโรค และควบคุมไม่ให้มีการปนเปื้อนอุจจาระไปกับรถหรือยานพาหนะ
       - ล้างวัสดุ อุปกรณ์และยานพาหนะด้วยผงซักฟอก และยาฆ่าเชื้อ

โรงเรือน

โรงเรือนเลี้ยงสัตว์ที่ดีจะทำให้สัตว์เจริญเติบโตและอยู่อย่างปลอดภัย ปัจจุบันแบบโรงเรือนที่นิยมใช้เลี้ยงสัตว์มากที่สุดคือแบบหน้าจั่วสองชั้น  ระบบโรงเรือนมี 2 ระบบ คือ ระบบเปิดและระบบปิด   ภายในโรงเรือนจะมีอุปกรณ์ในการเลี้ยงสัตว์ปีกซึ่งมีความจำเป็นในการเลี้ยงสัตว์ปีก ได้แก่ อุปกรณ์ให้อาหาร ให้น้ำ อุปกรณ์กกลูกไก่ และอุปกรณ์ในการป้องกันรักษาโรคสัตว์ปีก ขั้นตอนแรกของการเลี้ยงสัตว์ปีก คือ การเตรียมโรงเรือน โดยเริ่มจากการทำความสะอาด ล้างสิ่งสกปรกออก และทำการฆ่าเชื้อโรคทั้งโรงเรือนและอุปกรณ์ 

โรงเรือนเลี้ยงสัตว์ปีก

      โรงเรือนจัดเป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อสุขภาพของสัตว์ที่สำคัญปัจจัยหนึ่ง การสร้างโรงเรือนที่ไม่ถูกแบบและไม่ถูกหลักสุขาภิบาลสัตว์จะมีผลกระทบกระเทือนต่อสุขภาพของสัตว์และก่อให้เกิดความสิ้นเปลืองอีกด้วย

      1. ลักษณะของโรงเรือนที่ดี โรงเรือนที่ดีจะต้องยึดหลักประหยัด แต่สัตว์ต้องอยู่อย่างสุขสบาย ซึ่งสรุปได้เป็นข้อ ๆ ดังนี้

        1.1 แข็งแรง ทนทาน สามารถกันลม แดด ฝน และอันตรายต่าง ๆ ให้กับสัตว์ได้

        1.2 สามารถระบายอากาศได้ดี ภายในเย็นสบายแต่ไม่ถึงกับลมโกรก

        1.3 สามารถกันพาหะนำโรคต่าง ๆ ได้ เช่น นก  หนู แมว สุนัข เป็นต้น

        1.4 ทำความสะอาดง่าย ไม่เป็นที่น้ำขัง และดูสะอาดตา

        1.5 ห่างจากบ้านพักของคนงานพอสมควรเพื่อความปลอดภัย

        1.6 ราคาถูก สร้างได้ง่าย วัสดุที่ใช้ควรหาได้ง่ายในท้องถิ่นนั้น

        1.7 แยกออกเป็นอิสระต่อกันในแต่ละหลัง เพื่อลดปัญหาการติดต่อของเชื้อโรค

        1.8 ความยาวของโรงเรือนอยู่ในแนวตะวันออก-ตก เพื่อหลีกเลี่ยงแดดร้อนจัด

2.ระบบของโรงเรือน

      2.1 ระบบโรงเรือนเปิด (open house) เป็นโรงเรือนที่พบได้โดยทั่วไปในฟาร์มสัตว์ปีก ซึ่งผู้เลี้ยงมักประสบปัญหา เช่น ฝนสาด อากาศร้อนจัด ลมโกรก การระบายอากาศ อุณหภูมิในโรงเรือนสูง ไก่จะโตช้า    ผลผลิตลดลง มีแมลงรบกวน มีปัญหาการสุขาภิบาลป้องกันโรค

      2.2 ระบบโรงเรือนปิด (evaporative cooling system houses)   เป็นระบบการทำความเย็นใน      โรงเรือนสัตว์ปีกที่เหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศในประเทศไทย กำลังเป็นที่นิยมมาก โรงเรือนแบบปิดนี้สามารถควบคุมอุณหภูมิภายในโรงเรือนได้ด้วยแผ่นรังผึ้ง และโรงเรือนแบบพัดลม (pad and fan cooling) โดยการบังคับให้อากาศเข้าไปในโรงเรือนโดยผ่านแผ่นรังผึ้ง (cooling pad) อุณหภูมิที่ผ่านเข้าไปนั้นจะลดลงและความชื้นจะสูงขึ้น



ข้อดีของระบบทำความเย็นด้วยแผ่นรังผึ้ง

      1. ลดความเครียดที่เกิดจากความร้อนและทำให้ไก่สุขภาพดีขึ้น

      2. ในไก่พ่อแม่พันธุ์จะให้ผลผลิตสูงขึ้น

      3. ใช้พัดลมน้อยกว่าเทียบกับโรงเรือนเปิด เป็นการประหยัดค่ากระแสไฟฟ้า

      4. ลดอัตราการตาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงอากาศร้อนจัด

      5. สามารถใช้ร่วมกับระบบทึบแสงได้

      6. การหมุนเวียนอากาศภายในโรงเรือนสม่ำเสมอ

      7. สามารถเลี้ยงไก่ได้มากกว่าโรงเรือนเปิด

      8. สามารถควบคุมอุณหภูมิความชื้น การระบายอากาศ แสงสว่างในโรงเรือนได้
ที่มา  www.kasetonline.net
         www.dld.go.th