วันพุธที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2559

บทเรียนที่ 6 กระบวนการผลิตพืช เรื่องดิน

หน่วยการเรียนรู้ที่ 2 /บทเรียนที่ 6     กระบวนการผลิตพืช เรื่องดิน
เรื่อง ดิน


                ดิน (soil) หมายถึง เทหวัตถุธรรมชาติ (natural body) ที่เกิดจากการสลายตัวของหินและแร่ธาตุต่างๆ ผสมคลุกเคล้ากับอินทรียวัตถุ ซึ่งปกคลุมผิวดินโลกอยู่เป็นชั้นบางๆ เป็นวัตถุที่ค้ำจุนการเจริญเติบโตและการทรงตัวของพืช ดินประกอบด้วยแร่ธาตุที่เป็นของแข็ง อินทรียวัตถุ น้ำ และอากาศ ที่มีสัดส่วนแตกต่างกันขึ้นอยู่กับชนิดของดิน

การปรับสภาพดินและการเตรียมดิน
ก่อนปลูกต้นไม้บริเวณใด ๆ หากเป็นไปได้ควรทราบสภาพของดินปลูกเสียก่อนว่าเป็นอย่างไร สภาพดีหรือมีปัญหา ซึ่งสามารถแยกประเภทดินที่จะต้องปรับปรุง ดังนี้
     ดินกรด ส่วนใหญ่เป็นดินชั้นล่าง ซึ่งขุดจากที่อื่นมาถมในปบริเวณที่มีระดับต่ำ หรืออาจเป็นดินที่ได้รับผลกระทบจากชะล้างอย่างรุนแรงในอดีต ทำให้คุณสมบัติทางเคมีและกายภาพของดินเลวลง ดินมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ มีลักษณะเป็นสีน้ำตาลปนเหลืองเหมือนสีสนิมเหล็ก มีธาตุเหล็กและอะลูมินั่มมาก ดินจะมีเนื้อหยาบ อันน้ำได้น้อย ดินแน่น รากพืชชอนไชลำบาก การปรับปรุงดินกรดทำได้โดยการใส่ปูนเพื่อปรับค่าความเป็นกรดเป็นด่างของดินให้เหมาะสม เช่น ปูนขาว ปูนมาร์ล ปูนโดโลไมท์ เปลือกหอยเผา ฯลฯ ซึ่งปริมาณที่ใช้ขึ้นกับความเป็นกรดเป็นด่างของดินนั้น นอกจากนี้การใส่อินทรียวัตถุ เช่น ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยพืชสด ปุ๋ยคอก ยังเป็นการปรับสภาพของดินโดยเพิ่มประสิทธิภาพในการดูดซับอาหารในดินและช่วยเก็บรักษาความชื้นของดินให้ดีขึ้น
     ดินเค็ม เป็นดินที่มีเกลือละลายน้ำอยู่ในปริมาณมากจนเป้นอันตรายต่อการเจริญเติบโตของพืช ค่าความเป็นกรดเป็นด่างของดินมักจะสูงประมาณ 8.5 หรือต่ำกว่าก็ได้ สังเกตง่าย ๆ คือเมื่อดินแห้งจะมีคราบสีขาว ๆ ผิวดินมักจะเกิดกับบริเวณที่นำเอาดินลึก ๆ จากบริเวณรอบ ๆ กรุงเทพมหานครถม เพราะดินพวกนี้ส่วนใหญ่มีเกลืออยู่มาก การแก้ไขทำได้ด้วยการชะล้าง แต่ในกรณีที่เป็นดินเหนียวการชะล้างทำได้ยาก เพราะต้องมีการล้างเกลือ โดยให้น้ำผ่านดินให้มาก แต่ดินเหนียวซึมน้ำยาก ต้องผสมปุ๋ยอินทรีย์ลงไปเพื่อให้ดินร่วน น้ำซึมได้ง่ายขึ้นแล้วจึงทำการชะล้าง ในกรณีที่เป็นดินเค็มโซดิดและดินเค็มที่มีเกลือโซเดียมมาก ควรทำการชะล้างควบคู่ไปกับการใส่แคลเซียมซัลเฟตหรือกำมะถันลงไปด้วยการใส่อิทรีย์วัตถุหรือปุ๋ยอินทรียื เช่น ปุ๋ยคอกปรับปรุงในช่วงการเตรียมดิน แกลบ ช่วยให้ดินโปร่งและร่วนซุย ปุ๋ยพืชสด ปุ๋ยหมัก จัดเป็นการปรับปรุงดินอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยให้ดินมีความอุดสมบูรณ์และอุ้มน้ำได้ดีขึ้นนอกจากนี้ควรเลือกพืชปลูกที่ค่อนข้างทนความเค็มตามระดับความเค็มต่าง ๆ เช่น กระถินณรงค์ สะเดา ขี้เหล็ก คุณนายตื่นสายบานบุรี หญ้านวลน้อย ฯลฯ
     ดินเหนียว เป็นดินที่ระบายน้ำได้ช้าถ่ายเทอากาศไม่ดี ทำให้ต้นพืชมีระบบรากตื้นและ
เจริญเติบโตช้า การปรับปรุงทำได้โดยเติมทรายและอินทรียวัตถุลงไปเพื่อช่วยให้ดินโปร่งขึ้น
     ดินทราย เป็นดินที่มีคุณสมบัติโปร่งมากไม่อุ้มน้ำ ไม่อุ้มปุ๋ย ความอุดมสมบูรณ์ต่ำ การปลูกพืชในดินชนิดนี้จึงต้องให้ปุ๋ยและน้ำมากกว่าดินชนิดอื่น การปรับปรุงดินทำได้โดยเติมดินเหนียวผสมลงไป และเพิ่มปุ๋ยคอกให้บ่อย ๆ ดินก็จะอุ้มน้ำได้ดีขึ้น
     ดินด่าง มักพบในบริเวณใกล้เคียงสิ่งก่อสร้างที่มีผงปูนซิเมนต์ เนื่องจากมีผงปนลงไปในดินทำให้ดินเป็นด่าง สามารถแก้ไขได้โดยการใส่กำมะถันผง ซึ่งกำมะถันผง 1 ส่วน แก้ความเป็นด่างของปูนได้ 6-7 ส่วน (โดยปริมาตร) วิธีนี้เสียค่าใช้จ่ายมาก เพราะพวกนี้หายากรวมทั้งหากใส่มากเกินไปดินจะกลายเป็นกรดได้การใส่ปุ๋ยอินทรีย์ เช่น ปุ๋ยคอก อินทรียวัตถุต่าง ๆ บ่อย ๆ ในปริมาณมาก ๆ ในระยะเวลาหนึ่ง ความเป็นด่างก็จะค่อย ๆ ลดลง นอกจากนี้การขุดดินเดิมที่เป็นด่างออกไป และ/หรือ นำดินที่คุณสมบัติเหมาะสมมาถมบนดินเดิมเพื่อปลูกต้นไม้ ก็เป็นวิธีหนึ่งที่ทำการแก้ไขได้

             :  เรื่อง ความหมายของดิน http://www.ldd.go.th/ofsweb/thaisoil/n02.html